สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เผยประชาชนส่วนใหญ่ 95.8% ระบุม็อบต้องเลิกล่วงละเมิดสถาบันฯ หยุดเอาสถาบันหลักของชาติเป็นเครื่องมือของทุกฝ่ายให้การชุมนุมเป็นเฉพาะเรื่องการเมืองการทำงานของรัฐบาลและนักการเมือง ส่วนที่เหลืออีก 4.2% ระบุแล้วแต่ผู้ชุมนุม โดยประชาชนส่วนใหญ่ 99.4% ระบุยังจำได้ถึงความดีและประโยชน์สุขของประชาชนที่ได้รับจากสถาบันหลักของชาติที่ได้สร้างสมมาจากอดีตถึงปัจจุบัน ส่วนที่เหลืออีก 0.6% ระบุจำไม่ได้ ประชาชนส่วนใหญ่ 58.7% มีความกังวลต่อม็อบว่าจะก่อให้เกิดความรุนแรงบานปลายและสูญเสีย ขณะที่ประชาชนอีก 41.35 ไม่มีความกังวล และประชาชนส่วนใหญ่ 78.1% ระบุตำรวจต้องรักษาความสงบสุขประชาชน จึงต้องตัดไฟแต่ต้นลม ดำเนินคดีต่อแกนนำที่ละเมิดต่อสถาบันหลักของชาติ ขณะที่ประชาชน 21.9% ไม่เห็นด้วย โดยประชาชนทั้งในโลกโซเชียลและนอกโลกโซเชียลส่วนใหญ่ หรือ 57.5% ของคนนอกโลกโซเชียล และ 53.4% ของคนในโลกโซเชียล คิดว่ามีนักการเมืองสนับสนุนอยู่เบื้องหลังม็อบเยาวชน ขณะที่ 42.5% ของคนนอกโลกโซเชียลและ 46.6% ของคนในโลกโซเชียลคิดว่าไม่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจแนวโน้มการก่อตัวและการปั่นกระแสคนในโลกโซเชียลจากตัวอย่างการใช้ข้อความการเมือง พบว่า ข้อความการเมืองว่า "เยาวชนปลดแอก" เริ่มปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค.63 มียอดปั่นสูงสุดในวันที่ 23 ก.ค.63 แต่แนวโน้มลดต่ำลงแล้ว ปัจจุบันยังคงใช้ทวิตเตอร์ 88.0% และวิดีโอ 4.7% เป็นช่องทางการเคลื่อนไหว ข้อความการเมืองว่า "ให้มันจบที่รุ่นเรา" เริ่มปล่อยข้อความวันที่ 18 ก.ค.63 มียอดปั่นสูงสุดในวันที่ 18 ก.ค.63 และแนวโน้มลดต่ำลงเช่นกัน ปัจจุบันยังคงใช้ทวิตเตอร์ 72.5% ใช้อินสตาแกรม 20.0% ข้อความการเมืองว่า "สังหารหมู่ธรรมศาสตร์" เริ่มปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 6 ส.ค.63 แต่ไม่ได้รับการตอบรับมากนัก แต่วันที่ 12 ส.ค.63 มีการระดมปั่นยอดกระแสสูงสุดผ่านทางทวิตเตอร์ 96.9% และอินสตาแกรม 2.1% ข้อความการเมืองว่า "คณะประชาชนปลดแอก" เริ่มปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 31 ก.ค.63 มียอดปั่นยอดสูงสุดในวันที่ 6 ส.ค.63 โดยมีความแตกต่างไปจากข้อความการเมืองอื่นๆ เพราะผ่านทางทวิตเตอร์ 49.6% ผ่านทางสำนักข่าวต่างๆ 24.6% และ วิดีโอ 18.1% ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า เยาวชนที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปีทั่วประเทศ มีอยู่ 8,662,473 คน อ้างอิงจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แต่เด็กและเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวให้เห็นทั้งในโลกโซเชียลและนอกโลกโซเชียลมีความหลากหลายและสัดส่วนแตกต่างกัน ทั้งในระดับหลักพันและหลักหมื่นคน โดยปะปนกันในหลายวัตถุประสงค์ เช่น ผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมืองไม่เป็นตัวอย่างที่ดี ต้องการให้ยุบสภา ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่พอใจต่อรัฐบาล ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม และการก้าวล่วงละเมิดต่อสถาบัน เป็นต้น หากมีการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกโดยมีกติกา คัดกรอง แยกกลุ่มออกให้ชัด จะไม่ทำให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของ ขบวนการก่อการ ให้เกิดความรุนแรงในสังคมเพื่อมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลง จึงเสนอให้วิเคราะห์แยกกลุ่มแยกเวที จะพบว่า ปัญหาม็อบในเวลานี้ จะยังพอบริหารจัดการอารมณ์ของเด็กและเยาวชนได้ ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ใครถูกก็ว่าไปตามถูก โดยเด็กและเยาวชนผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายคงจะมองออกอย่างมีสติ สมาธิ และปัญญา ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้เพราะเอาเข้าจริง ๆ คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศในเวลานี้ ยังจำได้ถึงความดีและประโยชน์สุขที่ได้รับจากโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลน โครงการช่างหัวมัน โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการอื่นๆ อีกเป็นพันๆ โครงการ "หากเด็กและเยาวชนเหล่านี้ใช้อุปกรณ์ที่อยู่บนฝ่ามือของแต่ละคน ค้นคำว่า โครงการพระราชดำริฯ แล้ว คงจะรู้จักคำว่า ยับยั้ง ชั่งใจ ได้บ้าง เพราะฝ่ายที่ต้องการทำลายบ้านเมืองของเรา อาจจะต้องการให้เกิดความสูญเสียสุด ๆ ของประเทศ ก่อนวันที่ 13 ตุลาคมนี้ จึงขอให้เด็กเยาวชนและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองลองช่วยกันพิจารณาและภาวนา สลับกันไป" นายนพดล กล่าว ทั้งนี้ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ม็อบต้องเลิกล่วงละเมิดสถาบันฯ ตำรวจต้องรักษาความสงบสุขประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่าน "เสียงประชาชนในโลกโซเชียล" (Social Media Voice) ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 22,046 ตัวอย่างในโลกโซเชียล และ "เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม" (Traditional Voice) จำนวน 1,497 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5-15 ส.ค.ที่ผ่านมา