นางสาว ฤทัยชนก จงเสถียร ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เผยว่า การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นสิ่งที่ เอ็มแรป ให้ความสำคัญเสมอมา จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการให้ เอ็มแรป เป็นตัวช่วยในการถนอมอาหาร รักษาความสด และยืดอายุของอาหารให้ยาวนานขึ้น เพื่อลดปริมาณขยะอาหารหรือขยะอินทรีย์ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน บริษัทฯ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรีไซเคิลและการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างสร้างสรรค์ บนแนวทางการใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เหมือนที่หลายๆ หน่วยงานนำมาปรับใช้ จึงเริ่มต้นจัดทำโครงการเก็บ เพื่อ กลาย โดยเริ่มจากสร้างความเข้าใจให้พนักงานของเราก่อน ลงมือทำกันภายในองค์กร และขยายความร่วมมือไปยังคู่ค้าโรงแรมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จากความตั้งใจของ เอ็มแรป ทั้งการร่วมมือกันภายในและภายนอกองค์กร เกิดเป็น โครงการ "เก็บ เพื่อ กลาย" (Circulife By M Wrap) โดยผนึกกำลังร่วมกับคู่ค้าโรงแรมทั่วประเทศกว่า 30 แห่ง ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงการใช้ประโยชน์สูงสุดจากฟิล์มถนอมอาหารและสนับสนุนให้เกิดการรีไซเคิลที่ถูกต้อง อาทิ โรงแรม เจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ, โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์, โรงแรม บันยันทรี กรุงเทพฯ, โรงแรม ศรีพันวา ภูเก็ต, โรงแรม โนโวเทล ภูเก็ต ฯลฯ สร้างความเข้าใจพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย หากรู้จักใช้และร่วมมือกันจัดการขยะอย่างสร้างสรรค์ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ปี 2562 รายงานว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอย ทั้งหมด 27.8 ล้านตัน ซึ่งมีขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตันหรือ 7% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด แม้จะเป็นปริมาณที่ไม่มาก แต่ขยะพลาสติกกลับกลายเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในลำดับต้นๆ นั่นเป็นเพราะว่าขยะพลาสติก 2 ล้านตันนั้น ถูกนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีเพียง 5 แสนตันหรือ 25% ส่วนอีก 75% ถูกนำไปกำจัดแบบไม่ถูกวิธี ทิ้งตามแม่น้ำลำคลองไหลลงสู่ทะเล ส่งผลให้ที่ผ่านมาประเทศไทยมีพลาสติกสะสมในท้องทะเลเป็นอันดับที่ 6 ของโลก แต่ด้วยนโยบายที่ชัดเจนของภาครัฐฯ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการขยะ รวมถึงการสร้างจิตสำนึกและการจัดการกระบวนการจัดเก็บขยะอย่างเป็นระบบ ด้วยการลงมือแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อนำขยะที่สามารถรีไซเคิลได้กลับมาใช้ใหม่หรือแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ในปลายปี 2562 ประเทศไทยลดอันดับขยะพลาสติกสะสมในทะเลสูงสุดในโลก จากอันดับที่ 6 ลงมาอยู่อันดับที่ 10 การแยกขยะอย่างถูกต้องจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกลงได้ โครงการ “เก็บ เพื่อ กลาย” (Circulife By M Wrap) จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ลงมือปฏิบัติ สนับสนุนนโยบายดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากการรณรงค์ภายในองค์กร ด้วยการปลูกจิตสำนึกและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพนักงานว่า "เอ็มแรป รีไซเคิลได้" และพลาสติกนั้นไม่ใช่ผู้ร้าย หากเรารู้จักใช้และจัดการอย่างถูกวิธี รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมผ่านการ "ใช้ ล้าง ตาก เก็บ" ฟิล์มถนอมอาหารด้วยตนเอง ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หลังจากการดำเนินการภายในองค์กรมีผลลัพธ์ที่ดีและบริษัทฯ มีการศึกษาค้นคว้าในเรื่องของการรีไซเคิลอย่างจริงจัง จนพบว่า ฟิล์มถนอมอาหารใช้แล้ว สามารถนำไปรีไซเคิลให้เป็นสิ่งของที่มีประโยชน์อื่นๆ ได้มากมาย อาทิ รองเท้าบูท ฯลฯ จึงได้ขยายความร่วมมือสู่คู่ค้าโรงแรมต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยส่งตัวแทนไปพบปะ พูดคุย กับคู่ค้าด้วยตนเอง เพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของโครงการฯ รวมถึงชี้แจงให้เห็นว่า ‘กระบวนการแยกขยะพลาสติกและการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี คือ ทางออกของการลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างแท้จริง’ ซึ่งทุกโรงแรมจะได้รับถังขยะของโครงการฯ เพื่อแยกขยะทิ้งเฉพาะฟิล์มถนอมอาหารใช้แล้วเท่านั้นและทางโครงการฯ มีการจัดรถเข้ารับฟิล์มถนอมอาหารใช้แล้วจากโรงแรมทุกวัน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป ก้าวแรกของฟิล์มถนอมอาหารใช้แล้วกับการรีไซเคิลที่ถูกวิธี จนเป็นรองเท้าบูทรีไซเคิล 100% ส่งต่อให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ หลังจากการดำเนินโครงการซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคู่ค้าโรงแรมที่ให้ความสนใจและเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โครงการฯ สามารถเก็บรวบรวมฟิล์มถนอมอาหารที่ผ่านการใช้งานแล้วได้กว่า 3,000 กิโลกรัมหรือ 3 ตัน ภายในระยะเวลาประมาณ 5 เดือน จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่มีมาตรฐาน ทดลองและพัฒนาจนได้มาเป็นรองเท้าบูทยางข้อสั้น จำนวน 1,300 คู่ โดยมีส่วนผสมของฟิล์มถนอมอาหารเอ็มแรป ใช้แล้วมากถึง 80% ในช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) ทางโครงการฯ ได้มอบรองเท้าบูทยางข้อสั้นให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานรัฐฯ กว่า 50 แห่งทั่วประเทศเพื่อให้บุคลากรในโรงพยาบาลได้นำไปสวมใส่ป้องกันเชื้อโรคและใช้ประโยชน์ภายในองค์กรต่อไป หลังจากนี้แม้ว่าวิกฤติการณ์ต่างๆ จะผ่านไป โครงการเก็บเพื่อกลาย (Circulife by M Wrap) ก็ยังคงตั้งมั่นในการจัดการปัญหาพลาสติก มุ่งเน้นการรีไซเคิลที่ถูกต้อง รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานและการจัดการพลาสติกที่ถูกวิธี เพื่อให้สังคมเกิดความยั่งยืนมี "อนาคตที่ไร้ขยะ" (Waste-Free Future) และสามารถใช้พลาสติกจนเกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างแท้จริง