ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ว่า...
[ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบัญญัติในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ] ภายหลังการปราศรัยของอานนท์ นำภา เกี่ยวกับประเด็นสถาบันกษัตริย์ มีบุคคลไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีกับอานนท์ โดยอ้างว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” หลังจากนั้น ก็มีนักการเมืองจากพรรครัฐบาลบางคน เอาบทบัญญัติในมาตรา 6 นี้มากล่าวอ้างอีก จนกระทั่งเมื่อวาน ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้อภิปรายกล่าวหาว่าการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะละเมิดมาตรา 6 เป็นที่น่าเสียดายว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คนได้ทำให้ผมพ้นจากความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากผมมีโอกาสอยู่ในที่ประชุม ผมจะอภิปรายชี้แจงให้นายชัยวุฒิได้เข้าใจบทบัญญัติในมาตรา 6 และเรื่องเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของพระมหากษัตริย์อย่างถูกต้อง มิใช่อภิปรายแบบปราศจากความรู้ ขาดหลักวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ล่าสุดมีนักวิชาการที่เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความลงในเว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศรา เกี่ยวกับเรื่องเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของพระมหากษัตริย์ ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากหลักวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ และประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยอีก ด้วยเหตุทั้งหมดนี้เอง ทำให้ผมต้องนำบทความวิชาการของผมในเรื่อง “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้คืออะไร?” ซึ่งเคยตีพิมพ์ในวารสารฟ้าเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2555 มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน เมื่ออาจจบแล้วจะได้ทราบถึงหลักเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของประมุขของรัฐ ทั้งแบบประธานาธิบดีและแบบพระมหากษัตริย์ ได้ทราบว่าพระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดและไม่อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ก็ต้องมีเงื่อนไขครบถ้วนก่อน 4 ประการ และได้ทราบถึงประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่เปลี่ยนแปลงจาก 2475 มาเป็นแบบปัจจุบันได้อย่างไร ทุกท่านสามารถอ่านและดาวน์โหลดได้ ที่นี่ครับ - https://www.academia.edu/…/%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84_%E0%…