บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ประกาศปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 0.30 บาท กำหนดจ่าย 8 ก.ย.นี้ จากงวด 6 เดือนแรกปี 2563 รายได้ 1,396 ล้านบาท กำไร 230 ล้านบาท และยอดเติมรวมกว่า 18,704 ล้านบาท ชี้มาตรการช่วยเหลือภาครัฐจากโควิด-19 กระทบช่วงไตรมาส 2 แต่ยอดโอนเงินสวนทางเติบโต 73% ย้ำกลุ่มบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจรความต้องการยังสูง เล็งส่งตู้บุญเติมรุ่นใหม่ถอนเงินได้ปลายปี และเป็นตัวแทนธนาคารเพิ่มอย่างน้อย 1 ราย ควบคู่การกระจายตู้อัตโนมัติอื่นๆเพิ่มรายได้ มองยอดเติมเงินครึ่งปีหลังฟื้นจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย คาดปีนี้เติบโตใกล้เคียงปีก่อน นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) “FSMART” ผู้นำเครือข่ายช่องทางบริการอัตโนมัติและการเงินครบวงจร ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ด้วยตู้อัตโนมัติ “บุญเติม” เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 6/2563 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท จากกำไรสุทธิของงวดดำเนินงานวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 26 สิงหาคม 2563 และกำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 8 กันยายน 2563 โดยผลประกอบการรอบ 6 เดือนแรกปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 1,396 ล้านบาท กำไรสุทธิ 230 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2562 มียอดเติมเงินรวมอยู่ที่ 18,704 ล้านบาท โดยการลดลงของรายได้และกำไรมาจากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ให้ค่าโทรศัพท์และชั่วโมงอินเทอร์เน็ตฟรี เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ส่วนไตรมาส 2 บริษัทมีรายได้จำนวน 667 ล้านบาท กำไรสุทธิ 104 ล้านบาท ทั้งนี้ แม้ว่ากลุ่มธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินที่ถือเป็นธุรกิจหลักมีการปรับตัวลดลง แต่กลุ่มธุรกิจให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร (Banking Agent & Lending Business) อย่างบริการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารยังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จากจำนวนรายการโอนเงินล่าสุดเพิ่มขึ้นถึง 73% หรือประมาณ 1.65 ล้านรายการต่อเดือน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน สำหรับการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 2563 บริษัทฯคาดว่าแนวโน้มยอดเติมเงินจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายมากขึ้น รวมถึงบริษัทฯมุ่งมั่นบริหารจัดการ 3 กลุ่มธุรกิจให้มีการเติบโต โดยกลุ่มธุรกิจที่ 1 เติมเงิน-รับชำระเงินจะเน้นการรักษายอดเติมด้วยการจัดแคมเปญและโปรโมชั่นใหม่ๆ ต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นยอดการใช้บริการ ขณะเดียวกันพยายามเพิ่มศักยภาพในกลุ่มธุรกิจที่ 2 การให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร เพื่อเป็นจุดบริการการทำธุรกรรมทางการเงินและสินเชื่อครบวงจรมากขึ้น โดยเตรียมติดตั้งตู้บุญเติมรุ่นใหม่ที่สามารถถอนเงินได้จากทุกธนาคาร นอกเหนือจากบริการฝาก โอน จ่าย เปิดบัญชี และบริการพิสูจน์ตัวตนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ที่ให้บริการในตู้ปัจจุบัน และคาดว่าจะติดตั้งพร้อมให้บริการได้ในปีนี้ ควบคู่ไปกับการเป็นตัวแทนรับฝากเงิน/โอนเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 1 ธนาคาร และเพิ่มบริการการตรวจสอบเครดิตบูโร (NCB) ด้วยตนเอง ซึ่งเชื่อว่าทั้งหมดจะเป็นส่วนผลักดันที่สำคัญที่ช่วยเพิ่มยอดการทำรายการอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ 3 หรือกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการกระจายสินค้า บริษัทฯจะขยายจุดติดตั้งตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่มีบริการเติมเงิน-รับชำระเงินของตู้บุญเติม (Vending Machine & Top-Up Service) ตู้จำหน่ายกาแฟสด เพิ่มเป็น 4,500 ตู้ และเร่งการขยายการติดตั้งตู้จำหน่ายน้ำมันอัตโนมัติ โดยมีเป้าหมาย 500 ตู้ ในสิ้นปีนี้ โดยทุกสินค้าและบริการเป็นการพัฒนาของบริษัทฯที่มุ่งเน้นให้ความสะดวกและครอบคลุมความต้องการของลูกค้าในการซื้อสินค้าและบริการได้ด้วยตัวเอง (Self Service) ให้มากที่สุด “บริษัทยังมีการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิปีละ 2 ครั้งเช่นเดิมตามนโยบาย แม้มีหลายปัจจัยกระทบรายได้และกำไรในช่วงต้นปี ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้จะมีการเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อน จากการแบ่งกลุ่มธุรกิจทำให้เห็นความชัดเจนของรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการให้บริการทางการเงินที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเชื่อว่ารายได้ในกลุ่มนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างการเติบโตในอนาคต ควบคู่กับการมีรายได้เพิ่มจากกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการกระจายสินค้าที่ขยายตัวมากขึ้น พร้อมกับการรักษารายได้ธุรกิจหลักที่คาดว่ายอดเติมเงินจะกลับมาหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายในช่วงครึ่งปีหลัง”นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว