อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนับเป็นอาชีพที่คนไทยทำกันมาอย่างยาวนาน และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอย่างดี ผ้าไหมไทยนั้นมีความหลากหลายของลวดลายและกรรมวิธีการผลิตในแต่ละพื้นถิ่นแตกต่างกันไป ซึ่งการสาวไหมถือเป็นขั้นตอนแรกๆ ที่สำคัญของการผลิตเส้นไหม และเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน กรมหม่อนไหมได้สืบสานภูมิปัญญาการสาวไหมนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ได้จัดงานแข่งขันสาวไหมและการแข่งขันทำสิ่งประดิษฐ์ (พานพุ่ม) ระดับประเทศ ประจำปี 2563 ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยนายวสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วยนายสมชัย คล้ายทับทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในจังหวัดศรีสะเกษ ตลอดจนเกษตรกรเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ภายในงาน ประกอบด้วย การประกวดและการแข่งขันสาวไหม ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและบุคคลทั่วไป ส่วนการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม (พานพุ่ม) เป็นการแข่งขันระดับบุคคลทั่วไป ได้แก่ พานพุ่มในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) และพานพุ่มในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหมจัดการแข่งขันดังกล่าวเพื่อสร้างกระแสการตื่นตัวให้แก่กลุ่มเยาวชน เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านหม่อนไหมในการพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าใหม่ไทยให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด ตลอดจนสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ผลิตผลงานที่มีคุณภาพ ร่วมสร้างจิตสำนึกให้กับคนในท้องถิ่นให้มีความรู้สึกรักและหวงแหนในวัฒนธรรมไทยอันล้ำค่า และเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามด้านหม่อนไหมให้คงอยู่ต่อไป “ผ้าไหมไทยนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ทั้งในด้านความสวยงามและความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ ผ้าไหมไทยยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีการนำเอาประเพณีและวัฒนธรรมเข้ามาผสมผสานในกระบวนการผลิต ถือเป็นภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมอันทรงคุณค่ายิ่งที่ต้องอนุรักษ์และรักษาไว้ให้คงอยู่สืบไป” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว