ดนตรี / รุ่งฟ้า ลิ้มหัสนัยกุล ปล่อยทีละเพลงออกมาให้ฟังกันตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วย “วณิพก” - เพลงเอกที่สร้างชื่อให้ คาราบาว ได้รับความนิยมในวงกว้างเมื่อ พ.ศ. 2526 จากอัลบั้มชื่อเดียวกันและเป็นผลงานลำดับที่ 3 ของวง ก่อนที่จะประสบความสำเร็จอย่างสูงในเวลาต่อมากับ “เมด อิน ไทยแลนด์” อัลบั้มชุดที่ 5 ในปีถัดมา – ตามด้วย “ลุงขี้เมา”, “หนุ่มลำมูล” และทยอยปล่อยให้ฟังกันทางสตรีมมิ่งจนครบทั้งสิบเพลงในเดือนมิถุนายน รวมทั้งมิวสิค วิดีโอทาง ยูทู้บ ช่อง Pu Pongsit Official และมีซีดีออกมาในท้ายสุดสำหรับคนที่ยังนิยมฟังเพลงจากแผ่น ซึ่งคุณภาพเสียงดีกว่า และบรรดานักสะสมทั้งหลาย “คารวะ คาราบาว” ไม่ใช่อัลบั้มคัฟเวอร์ชุดแรกของ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ และไม่ใช่ครั้งแรกที่เขานำเพลงของ คาราบาว มาร้องใหม่ แต่เป็นชุดแรกที่ตั้งใจทำออกมาแบบมาทั้งอัลบั้ม ซึ่งทั้งหมดมาจากสี่อัลบั้ม ตั้งแต่ “ขี้เมา” (3 เพลง – “ลุงขี้เมา”, “หนุ่มลำมูล” และ “หนุ่มสุพรรณ”), “วณิพก” (3 เพลง – “วณิพก”, “หรอย” และ “จับกัง”), “ท ทหารอดทน” (1 เพลง – “ผู้เฒ่า”) จนถึง “เมด อิน ไทยแลนด์” (2 เพลง – “ลูกหิน” และ “เรฟูจี”) และ “รักคุณเท่าฟ้า” เพลงที่แต่งขึ้นให้กับ การบินไทย ได้รับความนิยมอย่างมาก จนนำมารวมอยู่ในอัลบั้ม “รวมเพลง คาราบาว” เมื่อปี 2529 โดยมีทีมนักดนตรีสนับสนุนที่เล่นกับเขามานาน ไม่ว่าจะเป็น ศิวะพงษ์ ศรีปรีชาพัฒนะ (กีตาร์อะคูสติก), อุดร ทีนะกุล (กลอง), ยุทธ์ดนัย มั่งนิมิตร (เบส) และ สุวรรณ มโนษร (ไวโอลิน / คีย์บอร์ด / แมนโดลิน) ผสมเสียงและมาสเตอร์โดย สราวุธ พรพิทักษ์สุข ที่เคยได้รับรางวัล แกรมมี่ จากการทำมาสเตอริ่งอัลบั้ม The Complete Hot Five and Hot Seven Recording ของ หลุยส์ อาร์มสตรอง ทำให้งานชุดนี้เป็นการแสดงคารวะต่อรุ่นพี่ได้งดงามทีเดียว พงษ์สิทธิ์ นำเพลงรุ่นพี่มาทำใหม่ในแบบที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเค้าโครงหลักเลยแม้แต่น้อย อาจเป็นเพราะความแข็งแรงของต้นฉบับหรืออาจจะเป็นความต้องการส่วนตัวของเขาเองก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เขาใช้ “เสียงร้อง” ที่มีอัตลักษณ์ของตนเป็นเครื่องหมายแสดงความแตกต่างจากเสียงร้องที่ชัดเจนไม่แพ้กันของ สามขุนพล คาราบาว ไม่ว่าจะเป็น ยืนยง โอภากุล-ปรีชา ชนะภัย-เทียรี่ เมฆวัฒนา แม้เสียงร้องจะไม่ใสคมเหมือนหนุ่มๆ แต่ทดแทนด้วย “ประสบการณ์” ในเนื้อ รวมถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเสียงร้องประสานผู้หญิงโดย เมนิสา มโนษร และการเรียบเรียงดนตรี-ที่ฟังผ่านๆก็ “เหมือนเดิมๆ” แต่ถ้าตั้งใจฟังก็จะพบความแตกต่างในเรื่องอารมณ์เพลงที่ละมุนละไมและกลมกล่อม ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่ง “ความหมาย” ของถ้อยความ-เรื่องราวเดิมเต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์หนักๆใน “ลุงขี้เมา”, “ลูกหิน”, “เรฟูจี” หรือ “หรอย” อารมณ์น่ารักใน “หนุ่มสุพรรณ” ที่เหน่อสำเนียงถิ่นแท้ๆ อาจจะยังไม่เต็มร้อยแต่ให้อภัยได้ อารมณ์หวานๆ ใน “รักคุณเท่าฟ้า” และ “หนุ่มลำมูล” หรืออารมณ์สนุกๆ ทางสามช่าผสมร็อกใน “วณิพก” และ “จับกัง” ในแง่ของการทำเพลงคัฟเวอร์ หลายคนคาดหวังถึงความแปลกใหม่-แตกต่างจากต้นฉบับ แต่บางคนอาจจะชอบแบบที่ทำออกมาแล้วเหมือนเดิมก็มี นั่นเป็นเรื่องของรสนิยม กระนั้นก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่า อัลบั้ม “คารวะ คาราบาว” ของ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ก็เป็นงานทำใหม่ที่อยู่ในระดับมาตรฐานและมีคุณภาพ ในแบบที่ฟังแล้วรู้สึกได้ถึง “ความเคารพ” ต่อบทเพลงอมตะเหล่านี้ ที่หลายเรื่องราวยังคงเกิดขึ้นและเป็นจริงอยู่ในปัจจุบัน และวง คาราบาว รุ่นพี่ที่เป็นเสมือนต้นแบบทางความคิดและการทำเพลงของหนุ่มใหญ่คนนี้