วันที่ 13 ส.ค. สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่แถลงการณ์เรื่อง “ท่าทีการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐต่อกลุ่มผู้ชุมนุม” ผ่านเพจ สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย I Student Council of Chulalongkorn University ระบุว่า ... " ตามที่มีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม “คณะประชาชนปลดแอก” จำนวน 2 คน และยังปรากฏเป็นกระแสข่าวแพร่หลายในหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์เป็นการทั่วไปว่า มีรายชื่อกลุ่มผู้ชุมนุมต่าง ๆ ที่อยู่ในข่ายเตรียมถูกออกหมายจับรวม 30 คน ซึ่งมีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมอยู่ในรายชื่อดังกล่าวด้วยนั้น สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความกังวลต่อท่าทีการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากมีลักษณะเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Strategic Lawsuit Against Public Participation: SLAPP) กล่าวคือเป็นการฟ้องคดีที่มิได้มีจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์หลักในการแสวงหาความยุติธรรมหรือรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หากแต่เป็นไปเพื่อกดดันและขัดขวางไม่ให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางการเมืองของประชาชนตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิผลมากเพียงพอ การบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้ นอกจากจะเป็นการไม่เคารพถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยแล้ว ยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือและความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม อันอาจก่อให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ อีกมากมาย สภานิสิตจุฬาฯ เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมตามหลักนิติรัฐนั้น จะต้องยึดเอาหลักกฎหมายและองค์ประกอบของความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเป็นที่ตั้งมิใช่ยึดถือเอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้งแล้วพยายามหาข้อกฎหมายมาดำเนินคดีเพื่อหวังผลประการอื่นการจะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ใดๆ ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องจึงต้องยึดเอากฎหมายเป็นหลัก หากการชุมนุมในลักษณะใดไม่ครบองค์ประกอบความผิด เช่น การชุมนุมที่เป็นการแสดงความคิดเห็นติชมรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่สมควรดำเนินคดีข้อหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพราะหวังผลประการอื่น การดำเนินคดีในลักษณะนี้ไม่ส่งผลดีต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การดำเนินการลักษณะนี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองมากยิ่งขึ้น จนอาจนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมนี้ต่างหากจึงจะเป็นการเสริมสร้างความปรองดองอันเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่ยึดถือเอาตัวบุคคลผู้ต้องหาเป็นที่ตั้ง และเคารพถึงสิทธิทางการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อที่กระบวนการยุติธรรมของไทยจะได้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนต่อไป"
ขอบคุณข้อมูลและภาพ เพจ - สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย I Student Council of Chulalongkorn University