“ที่สุดแล้ว..ชีวิตของมนุษย์ที่แท้ก็ดำรงอยู่อย่างทายท้ากับจิตวิญญาณของตนเองและกรอบเกณฑ์ที่รัดตรึงรอบข้าง..เป็นภาวะแห่งการมีและการเป็นที่สุดโต่งต่อการตัดสินใจผ่านกระบวนการแห่งความมีเหตุผลและ ความไร้เหตุผลอันถาวร...นั่นคือภาวะที่มนุษย์ต่างกระทำผ่านสถานะและบทบาทเฉพาะของตัวตน..จนกลายเป็นความซ้ำซากและก่อเกิดเป็นความไร้สาระอันสลับซับซ้อนและยากต่อการตีความในชีวิตไปในที่สุด...” บริบททางความคิด ณ เบื้องต้น...คือนัยผูกพันที่โยงใยถึง..หนังสือความเรียงขนาดยาวของ “อัลแบรต์ กามูส์” นักเขียน/นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เชื้อสายแอลจีเรีย... “เทพตำนานซีซิฟ”(Le Mythe de Sisyphe)..คือเรื่องราวที่ถูกเขียนขึ้นด้วยเป้าประสงค์ที่จะอธิบายถึงข้อตระหนักแห่งแนวคิดของเขา..ในประเด็นเริ่มต้นจากคำถามสำคัญที่ว่า..คนเราควรจะฆ่าตัวตายหรือไม่?..อันเป็นคำถามในมิติแห่งปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ในทัศนคติของเขา.. “ปัญหาทางปรัชญาที่สำคัญจริงๆ มีเพียงปัญหาเดียว นั่นคือการฆ่าตัวตาย การตัดสินว่าชีวิตมีค่าหรือไม่มีค่าพอที่จะอยู่นั้น คือการตอบคำถามพื้นฐานทางปรัซญา ส่วนที่เหลือไม่ว่าโลกจะมีสามมิติหรือไม่ ไม่ว่าจิตใจมีก้าวหรือสิบสองประเภทล้วนมาทีหลัง สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการเล่น ...ที่ผ่านมาเรามองว่าการฆ่าตัวตายเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางสังคม แต่ในที่นี้ตรงกันข้าม เราเห็นว่ามันเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างความคิดปัจเจกชนกับการฆ่าตัวตายตั้งแต่แรกเริ่ม การกระทำในลักษณะนี้ได้เตรียมตัวเองในความเงียบของหัวใจ เฉกเช่นการเตรียมงานศิลปะอันยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่ง ทว่า..ผู้กระทำนั้นไม่รู้ตัว และแล้วเย็นวันหนึ่งเขาก็เหนี่ยวไกปืนหรือกระโดดลงน้ำ...” กามูส์..ได้ตอกย้ำว่า..การฆ่าตัวตายมีหลายสาเหตุ แต่โดยทั่วไป เหตุที่ปรากฏให้เห็นชัดที่สุดมักไม่ใช่เหตุที่สำคัญที่สุด..มีอยู่น้อยครั้งที่คนเราฆ่าตัวตายด้วยการไตร่ตรอง...(แต่สมมติฐานนี้ก็ไม่อาจขจัดทิ้งได้)..สิ่งที่กระตุ้นวิกฤตินั้นมักเกือบจะควบคุมไม่ได้.. บรรดาหนังสือพิมพ์มักพูดถึง “ความโศกเศร้าภายใน”..หรือ “โรคที่รักษาไม่ได้”..คำอธิบายเหล่านี้ล้วนต่างมีเหตุผล แต่เราก็ต้องรู้ว่า .... “การฆ่าตัวเองนั้นเหมือนนิยายประโลมโลก...ในแง่หนึ่งมันคือการสารภาพ การสารภาพว่าเราพ่ายแพ้แก่ชีวิต หรือไม่สามารถเข้าใจมันได้...แต่อย่างไรก็ตาม เราก็อย่าไปไกลจนเกินไปนักเลยในการเปรียบเทียบทำนองนี้..หันกลับมาใช้ภาษาธรรมดาๆ..ซึ่งก็จะเป็นเพียงการสารภาพว่า..มันไม่คุ้มที่จะทนอยู่. แน่นอนว่า ชีวิตไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เรายังคงทำไปตามที่การดำรงอยู่ควบคุม เพื่อเหตุผลหลายอย่าง..อย่างแรกคือนิสัย การตายโดยความสมัครใจนั้นหมายความว่าเรารู้ แม้จะโดยสัญชาตญาณถึงลักษณะอันน่าหัวเราะของนิสัยนี้ ถึงการขาดหายไปของเหตุผลอันลึกซึ้งทั้งหลายทั้งปวงของการมีชีวิตอยู่ต่อไป..ถึงลักษณะอันบ้าคลั่งของความปั่นป่วนประจำวัน และการไร้ประโยชน์ของความทุกข์ทรมาน..” แท้จริง..เนื้อหาหลักของความเรียงเรื่องนี้..ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างความไร้สาระกับการฆ่าตัวตาย ภายในขอบเขตอันชัดเจนที่การฆ่าตัวตายอาจเป็นทางออกสำหรับความไร้สาระ.. “ผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้นปรากฏว่า..มักจะมั่นใจในความหมายของชีวิต ความขัดแย้งเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลา จนเราอาจกล่าวได้ว่า..ความขัดแย้งไม่เคยปรากฏชัดเท่าประเด็นนี้ ที่ทำให้ตรรกะแห่งความตรงกันข้ามดูจะกลายเป็นสิ่งอันพึงปรารถนาไป มันเป็นเรื่องปกติที่เราจะเปรียบเทียบทฤษฎีทางปรัชญากับพฤติกรรมของผู้ที่สนับสนุนมัน แต่ต้องกล่าวว่า..ในหมู่นักคิดผู้ปฏิเสธความหมายของชีวิตนั้น..ไม่มีใครยอมรับตรรกะของตนจนถึงขั้นปฏิเสธชีวิต” “กามูส์” ได้ระบุถึงว่า..เมื่อเผชิญกับความขัดแย้งและความคลุมเครือเหล่านี้ มันจึงทำให้เราต้องเชื่อว่า..ย่อมไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างทรรศนะที่เราอาจมีต่อชีวิต กับการกระทำที่เราจะกระทำลงไปเพื่อละไปเสียจากมัน...ในความผูกพันของคนคนหนึ่งกับชีวิตของตนนั้น มีบางสิ่งบางอย่างที่เหนียวแน่นกว่าความทุกข์ยากทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ การตัดสินใจโดยกายดีพอกับการตัดสินใจของจิต แต่กายถดถอยเบื้องหน้าแห่งการทำลายล้าง..เราทุกคนต่างมีนิสัย..ในการใช้ชีวิตก่อนสร้างนิสัยในการคิด ...ในการวิ่งแข่งที่เรามุ่งสู่ความตายเร็วขึ้นทุกวัน ร่างกายคงวิ่งด้วยการนำหน้าอันมิอาจรั้งรอ.. จริงๆแล้ว..ประเด็นแห่งแก่นแท้ของความขัดแย้งนี้จึงอยู่ในสิ่งเขาเรียกว่า.. “การหลบหลีก” เพราะมันทั้งน้อยกว่าและมากกว่าการ “หันเห”...อันมีต้นรากแห่งความหมายทั้งหมดมาจาก “แบลส ปาสกาล”(Blaise Pascal)..นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้มีส่วนในการคิดสร้าง เครื่องคิดเลข คิดเรื่องเรขาคณิต..และ..คิดเรื่องทฤษฎีความน่าจะเป็นสำหรับ.. “การหันเห”(diversion)..โดยปาสกาล เห็นว่า..คนจะรับมือกับเงื่อนไขที่หมดหวังของตนได้ในสามวิธี..ได้แก่... “หันเห”(diversion) “ไม่สนใจ”(indifference) และ “หลอกตัวเอง” (self-deception)...ที่สำคัญที่สุดในที่นี้คือ “การหันเห” ซึ่งก็คือ...การหันไปหาเรื่องที่ให้ความเพลิดเพลินแก่ชีวิตแทน... “ทั้งหมดนี้ทำให้เรื่องราวสับสนแต่ก็ถือว่าไม่สูญเปล่า...ที่เราเล่นคำกันแล้วแกล้งเชื่อว่าการปฏิเสธความหมายของชีวิต จะนำไปสู่การประกาศว่ามันไร้ค่าที่จะอยู่ในความเป็นจริง ไม่ได้มีมาตรการใดๆ บังคับระหว่างการตัดสินทั้งสองสิ่งนี้ เพียงแต่ต้องไม่ยอมให้ตัวเราเองถูกพาให้หลงทางไป โดยความสับสนแตกแยก..และความไม่แน่นอนทั้งหลาย..เราต้องออกห่างจากประเด็นทั้งหมดนี้แล้วมุ่งสู่ปัญหาที่แท้จริง..” ครั้นเมื่อด้านหนึ่ง มนุษย์ต้องการความหมายและคุณค่า แต่ในอีกด้านหนึ่งโลกกลับไร้ซึ่งความหมายและคุณค่าใดๆ..อีกทั้งมนุษย์ยังต้องการเหตุผล แต่โลกของแห่งการมีชีวิตอยู่ของเรานั้นก็ไร้เหตุผล..ตามทัศนะของ “กามูส์” ปมเงื่อนแห่งความขัดแย้งนี้..ไม่มีหนทางใดที่จะคลี่คลายได้..มันจึงคือภาวะที่เขาเรียกว่า “ไร้สาระ” (absurd)..อันถือเป็นภาวะที่มนุษย์ต้องยอมจำนนว่า..ไม่มีทางที่จะค้นพบ คุณค่า ความหมาย หรือ เหตุผลใดๆได้เลย..ด้วยความเป็นจริงอันขมขื่น ความรู้สึกที่สัมผัสถึงว่า.โลกนี้ไร้เหตุผล ไร้สาระ ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ใจแก่ผู้คนโดยรวม..กามูส์ได้เน้นย้ำถึงว่า..เขาไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหานี้ของมนุษย์ด้วยการฆ่าตัวตาย..เพราะนั่น..จะเป็นอะไรอื่นไปไม่ได้นอกจากเป็นการหนีปัญหา.. “กามูส์”...ได้เสนอรูปแห่งแบบของบุคคลอันเป็นตัวละครที่ตระหนักถึงความไร้สาระของชีวิตที่ได้กล่าวถึงประเด็นต่างๆมาทั้งหมด เพื่อทำให้การสื่อสารความหมายแห่งแนวคิดของเขาเป็นรูปธรรม..เขาเลือก “ซีซิฟ”..ผู้ที่เขาถือเป็นวีรบุรุษของบุคคลในนาม “Absurd Man” ซีซิฟ..คือบุคคลที่ถูกกล่าวขานในเทพปกรณัมของกรีก..เขาคือผู้ถูกพระเจ้าลงโทษ..ด้วยการให้เข็นหินก้อนใหญ่ขึ้นสู่ปลายยอดเขาเพียงเพื่อจะให้ได้ข้อตระหนักว่า..ที่สุดแล้วหินก้อนนั้นก็จะตกลงมาอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า..แต่เขาก็จะเข็นหินก้อนนั้นกลับขึ้นไปอีกอย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก..ในทุกๆคืนวัน..สิ่งที่ซีซิฟ..ต้องทำซ้ำอยู่อย่างนั้นถือเป็นสิ่งที่ทั้งไร้สาระและไร้ความหมาย..อย่างถึงที่สุด..ซึ่งอาจเปรียบได้กับวิถีแห่งการดำรงชีวิตและดำเนินชีวิตของมนุษย์ ณ วันนี้ที่ต้องทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ ...ทำงานอย่างบ้าคลั่งด้วยความจำเจซ้ำซากอันดิ้นไม่หลุด..เป็นความไร้สาระอย่างหาแก่นแกนไม่ได้ของการมีชีวิตอยู่..แต่สิ่งที่ต่างจากความเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน..ผ่านการกระทำอันซ้ำๆกันนั้นของกามูส์ก็คือ..ซีซีฟหาได้สิ้นหวังท้อแท้ต่อสภาวะแห่งความไร้สาระที่ต้องดำรงอยู่แต่อย่างใดไม่..เขาตระหนักถึงความไร้สาระที่ชีวิตไม่อาจเลี่ยงพ้นนี้..จนทำให้เราต้องคิดและเชื่อว่า..เขามีความสุขกับสิ่งที่เขาทำและสิ่งที่เขาเป็นอยู่...แท้จริงความสุขมีหลายระดับ หลายประเภท..โดยความสุขในแต่ละระดับหรือในแต่ละประเภทนั้น...ทุกคนสามารถจะรับรู้ได้เหมือนๆกัน สามารถสัมผัสได้ด้วยรสชาติอันเดียวกัน..แม้จะต่างกันด้วยภาษาหรืออาจไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ก็ตาม.. “เทพตำนานซีซิฟ”....อาจนับได้ว่า..เป็นเสมือนคำประกาศถึงสาระสำคัญในความคิดทางปรัชญาของ “กามูส์”.. มันคือความเรียงที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ที่กามูส์..ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความไร้สาระเอาไว้อย่างชัดเจน..สิ่งสำคัญที่กามูส์...ได้ตั้งคำถามไว้และต้องการคำตอบอย่างยิ่งก็คือ...เราจะอยู่กับความไร้สาระโดยปราศจากการวอนขอได้หรือไม่?...ซีซิฟ..จึงคือตัวอย่างของบุคคลที่สามารถอยู่กับสภาวะแห่งความไร้สาระได้โดยไม่ปรารถนาการร้องขอใดๆทั้งต่อพระเจ้าและ ต่อสิ่งที่สถิตอยู่เหนือธรรมชาติ... “กามูส์”..ได้สรุปนัยแห่งการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากการวอนขอ..ผ่านมิติแห่งชะตากรรมชีวิตของซีซิฟ..ผู้ที่เขายกย่องว่าเป็นคนฉลาด(Intelligence Man)...เป็นคนที่แบกรับความไร้สาระที่อยู่กับความไร้สาระได้อย่างเด็ดเดี่ยว..เป็นคนที่ทายท้าและกล้าเปิดโปงความลับอันสำคัญของมหาเทพ..เป็นคนที่เอาตัวรอดจากยมโลกผ่านขื่อคาของความตายที่ถูกพิพากษาอย่างเด็ดขาดได้ถึงสองครั้ง... จนที่สุดเมื่อต้องยอมจำนน และชีวิตต้องตายไปจริงๆ เขาก็ถูกลงโทษด้วยการกลิ้งหินสู่ยอดเขา..ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความเป็นไปในความไร้สาระ.. “ซีซิฟ”..ได้ใช้ชีวิต ณ ห้วงขณะนั้นด้วยสำนึกแห่งการกบฏ..สำนึกแห่งอิสรภาพ..และสำนึกแห่งปรารถนาอันแรงกล้า..จนถูกขนานนามว่า..เป็น “Great Man”..ผู้มีหัวใจอันยิ่งใหญ่ “Great Mind”..ผู้ที่พิสูจน์ว่าการมีชีวิตอยู่นั้นไม่ใช่แค่อยู่ได้ด้วยการใช้สมองหรืออยู่ได้ด้วยเหตุผลเพียงเท่านั้น..แต่หัวใจอันเชื่อมโยงถึงอารมณ์ความรู้สึกก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน..การกบฏต่อพระเจ้า..การยืนยันในเสรีภาพแห่งตน ตลอดจนการหลงใหลในชีวิตบนโลกนี้..ทำให้ซีซิฟต้องเสี่ยงต่อการโกรธเคืองของบรรดาเหล่าทวยเทพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...เป็นความไร้สาระที่ถูกเลือกแล้วต่อการใช้ชีวิตทั้งปัจจุบันและอนาคตกาล... “คนเรานั้นไม่มีสิทธิพิเศษใดๆบนโลกและในสวรรค์ แม้เมื่อพวกเขาได้นำพาลูกแกะน้อยของตนไปจนลุความสมบูรณ์พร้อม อย่างดีที่สุดเราก็เป็นได้แค่ลูกแกะน้อยที่มีเขาอันน่าขัน...ไม่มีอะไรมากกว่านั้น โดยต้องยอมรับว่า..เราไม่ได้ฟุ้งไปด้วยความเหลวไหล..และไม่ได้สร้างความอื้อฉาวด้วยทัศนคติของเรา....ในทุกๆกรณี เราจำเป็นต้องคืนด้านที่เป็นมิตร..ให้แก่การที่ให้เหตุผลที่ไร้สาระ...จินตนาการสามารถเพิ่มด้านอื่นๆเข้าไปได้อีกมาก..ด้านที่ผูกพันกับกาลเวลาและการเนรเทศ..ซึ่งรู้ด้วยว่าจะอยู่ได้อย่างไรในจักรวาลที่ปราศจากอนาคตและความอ่อนแอ..โลกอันไร้สาระที่ไม่มีพระเจ้านี้...จึงเต็มไปด้วยคนที่คิดได้กระจ่าง..และไม่หวังสิ่งใดๆอีก..แต่ผมยังไม่ได้พูดถึง..คนที่ไร้สาระที่สุด..นั่นคือคนที่สร้างสรรค์” นี่คือหนังสือแห่งคุณค่าที่ชวนสัมผัสในยามที่โลกทั้งโลกต่างเต็มไปด้วยศรัทธาอันเสื่อมทรุด...และภาวะแห่งความขัดแย้งอันร้อนร้ายที่อุบัติขึ้นจากเจตจำนงที่บิดเบี้ยวและไร้เป้าหมาย..เราต่างมีชีวิตอยู่ไปวันๆ ด้วยการแบกหามความทุกข์ และพยายามจะนำไปมันไปสู่ปลายยอดสุดของความหวังลมแล้งๆ..เป็นความไร้สาระที่เหลื่อมซ้อนอยู่กับความไร้สาระที่ทั้งหมดทั้งสิ้นมักจะถูกมองข้ามผ่านด้วยทรรศนะเชิงอคติและความเปล่าดายในการรับรู้ทางจิตวิญญาณ..ทั้งๆที่ชีวิตแห่งวันนี้ของเราทุกคน..ล้วนต้องมีพันธกิจและภารกิจอันหนักอึ้ง...ที่จะต้องเข็นองคาพยพแห่งความเป็นตัวตนให้ขึ้นไปสู่จุดหมายปลายทางที่มุ่งหวัง..ทั้งๆที่รู้ว่ามันยากลำบากและเป็นไปไม่ได้...แต่นี่คือสาระแห่งความไร้สาระ..ที่ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพื่อที่ชีวิตจะไม่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างที่ต้องไปอ้อนวอนร้องขอความเกื้อกูลอย่างน่าเวทนาจากใครๆ “ซีซิฟ” ย่อมต้องกลิ้งหินอยู่อย่างนั้น..ต้องกระทำสิ่งๆนี้โดยไม่มีวันบรรลุเป้าหมาย..แต่ซีซิฟก็มีความสุขในชีวิตของเขา ท่ามกลางภาวการณ์อันชวนผิดหวังนี้ เนื่องเพราะการเข็นหินก้อนนั้นคือเป้าหมายที่อยู่ในตัวของมันเอง..มันคือการยอมรับตัวเองผ่านชะตากรรมอันเป็นที่สุดแล้วต่อการชำระล้างชีวิต..ให้เป็นตัวตนที่สามารถหยั่งเห็นถึงความสุขและเป็นเจตจำนงของความเป็นนิรันดร์.ได้… “...ในที่สุดฉันก็ตระหนักว่า..ฉันเคยมีความสุขตลอดมา และยังคงเป็นสุขอยู่จนวินาทีสุดท้าย..ชีวิตไร้สาระก็จริง..แต่ต้องยอมรับและพร้อมที่จะโอบกอดมัน.....”