“EPG”เผยผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 63/64 (เม.ย.-มิ.ย.63) ภายใต้การแพร่ระบาดโควิด-19 มีรายได้จากการขาย 1,952 ล้านบาท กำไรสุทธิ 75 ล้านบาท มั่นใจรับมือโควิด-19 ได้รุกปรับนโยบาย “USE” ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรคุ้มค่า-ลดค่าใช้จ่าย-เพิ่มประสิทธิภาพทำงาน มั่นใจรายได้ทั้งปีโตต่อเนื่องรับคลายล็อกดาวน์ รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ต้องหยุดชะงักจากมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ในหลายประเทศ อย่างไรก็ตามบริษัทได้นำนโยบาย “USE” (U: Utilization การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า S: Save การประหยัดค่าใช้จ่าย และ E: Efficiency การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน) มาใช้บริหารงานภายในองค์กร เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่ 1 ปี 63/64 (เม.ย.63 – มิ.ย.63) บริษัทมีรายได้จากการขาย 1,952.2 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 2,672.4 ล้านบาท หรือลดลง 27.0% แม้ยอดขายลดลงแต่สามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นได้ที่ 28.9% และมีกำไรสุทธิ 74.6 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 215 ล้านบาท หรือ ลดลง 65.3% ทั้งนี้การดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจ EPG ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ดังนี้ ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มีรายได้จากการขาย 635.4 ล้านบาท หรือลดลง 16.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์ของฉนวนแอร์โรเฟลกซ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่มียอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปรับลดลงจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเกิดความล่าช้าจากกระบวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ส่วนธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas มียอดขายรวม 751.6 ล้านบาท หรือลดลง 41.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากค่ายรถยนต์หลายแห่งในประเทศประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 จึงทำให้กลุ่มลูกค้า OEM (Original Equipment Manufacturer)ได้รับผลกระทบพอสมควร แต่แอร์โรคลาส ไม่ได้ผลิตเพื่อส่งลูกค้ากลุ่ม OEM เพียงเท่านั้น แต่ผลิตสินค้าขายให้กับลูกค้ากลุ่ม After Market และโชว์รูมรถยนต์ด้วย ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการติดตั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ได้แก่ พื้นปูกระบะ (Bed Liner) หลังคารถกระบะ (Canopy) เป็นต้น สำหรับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลง และความล่าช้าจากการขนส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ และธุรกิจในประเทศออสเตรเลีย มียอดขายชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตามในเดือนมิถุนายน 2563 เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP มียอดขายรวม 565.1 ล้านบาท หรือ ลดลง 9.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ผลกระทบจากการอุปโภคบริโภคภายในประเทศลดลง ทำให้ยอดขายบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทถ้วยน้ำดื่มลดลง แต่ได้รับประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภท กล่องใส่อาหารชดเชยบางส่วนจากการที่ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้น โดยบริษัทมีต้นทุนขายสินค้าลดลง 27.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลประโยชน์จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 18.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอีกหนึ่งประเด็นที่ส่งผลกระทบกับกำไรสุทธิของบริษัท คือบริษัทได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS 9 และTFRS 16 มีผลต่อการจัดประเภทรายการใหม่และการวัดสินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงิน โดยบันทึกผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและ ขาดทุนอื่น เป็นจำนวน 17.9 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทได้รับส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ 20.7 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทร่วมทุนที่ผลิตสินค้าเพื่อขายให้อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 “แนวโน้มธุรกิจของบริษัทในปีบัญชี 63/64 (เม.ย.63-มี.ค.64) บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้จากการขายที่ 9,000 ล้านบาท รักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นที่ 28-30% โดยหวังเป็นอย่างยิ่งหากสถานการณ์ดีขึ้นและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดี EPG จะสามารถกลับสู่การเติบโตใกล้เคียงกับสภาวะปกติได้โดยเร็ว”