“กว่าจะเป็นเหล่าราชนาวีที่แข็งแกร่ง พวกเขาจึงต้องผ่านการฝึกซ้อม อย่างหนักหน่วง ต้องผ่านการทดสอบกำลังใจและกำลังกายมาอย่างนับครั้งไม่ถ้วน และดูเหมือนว่าชีวิตน้องใหม่ในรั้วประดู่มันไม่ง่ายที่จะปรับจากพลเรือนธรรมดาไปอยู่ในกฏระเบียบที่เข้มงวด” “หนึ่งพันห้าร้อยไมล์ทะเลนี้ มีนาวีเฝ้า” ส่วนหนึ่งจากบทเพลงราชนาวี ที่หลายคนคงคุ้นหูกันดี กว่าจะเป็นเหล่าราชนาวีที่แข็งแกร่ง พวกเขาจึงต้องผ่านการฝึกซ้อม อย่างหนักหน่วง ต้องผ่านการทดสอบกำลังใจและกำลังกายมาอย่างนับครั้งไม่ถ้วน และดูเหมือนว่าชีวิตน้องใหม่ในรั้วประดู่มันไม่ง่ายที่จะปรับจากพลเรือนธรรมดาไปอยู่ในกฏระเบียบที่เข้มงวด - น้องใหม่ราชนาวี ในทุกปีศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ (ศฝท.ยศ.ทร.) อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี แห่งนี้จะได้ต้อนรับน้องใหม่ในทุกๆ 2 เดือน คือในช่วงเดือน พ.ค.- ก.ค. ,ส.ค.-ต.ค. ,พ.ย.-ม.ค. และก.พ.-เม.ย. ผลัดละ 4,000 คน ต้องมาใช้ชีวิตและฝึกร่วมกันเป็นเวลา 2 เดือนก่อนที่แยกลงหน่วยต่างๆของกองทัพเรือประกอบด้วย หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กองเรือยุทธการ กองทัพเรือภาค 1-3 ฐานทัพเรือสัตหีบ กองพลาธิการทหารเรือ เป็นต้น ซึ่งการแบ่งผลัดของทหารเรือจะแตกต่างกับของทหารเหล่าอื่นที่เพียงแค่ 2 ผลัด จึงทำให้จำนวนคนในแต่ละผลัดน้อยกว่าทหารเหล่าอื่นๆ ในจำนวน 4,000 คนนี้ มีทั้งเต็มใจมาสมัครด้วยตนเองและที่ต้องเสี่ยงจับใบดำ ใบแดงมา ซึ่งทั้งหมดที่เข้ามาต้องเข้ามาปูพื้นฐาน เช่นการปรับสภาพเรื่องระเบียบวินัย การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ การสร้างความสามัคคี รวมไปถึงการปรับสภาพร่างกายให้มีความอดทนแข็งแรง และการเรียนรู้วิชาการทหารเรือ การดำรงชีพในทะเล การทำงานบนเรือ และขนบธรรมเนียบประเพณีทหารเรือ เป็นต้น นาวาเอก ธาดาวุธ ทัดพิทักษ์กุล ผู้บังคับการศูนย์ฝึกทหารใหม่ เปิดเผยว่าการฝึกในแต่ละผลัดของนักเรียนพลกองประจำการนั้น จะมีการฝึกที่แตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยตามสภาพแวดล้อม รวมทั้งให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันของคนในแต่ละภาค เราก็ต้องนำมาหลอมรวมพฤติกรรมให้เป็นเหมือนๆกัน พร้อมที่จะอยู่ร่วมกันและเป็นหมู่เหล่าด้วยกันหรือจะเป็นในเรื่องของการจัดระบบสุขภาพร่างกายของพลทหารที่มีสภาพความแข็งแรงอดทนของร่างกายที่แตกต่างกันในแต่ละคนซึ่งกองทัพเรือมีนโยบายชัดเจนในเรื่องการดูแลกำลังพล ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและโภชนาการ คือต้องแข็งแรงทั้งร่างกายและมีจิตใจแจ่มใส มีทัศนคติที่ดีในทุกๆด้าน โดยเฉพาะในเรื่องความเสียสละและการมุ่งทำประโยชน์และทำดีเพื่อสังคม นอกจากนี้กองทัพเรือยังมีนโยบายในเรื่องของการดูแลความเป็นอยู่ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีความเหมาะสมต่อการฝึกหัดศึกษา ทั้งนี้สิ่งที่ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เน้นย้ำเป็นพิเศษคือเรื่องของความปลอดภัย คือต้องฝึกอย่างมีระบบระเบียบ และคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่มีการทำโทษนอกระบบ รวมทั้งต้องมีจิตใจที่จะเสียสละและช่วยเหลือประชาชนอยู่เสมอ ให้มีทัศนคติและมุ่งมั่นไว้เสมอว่าทหารเรือจะไม่ทิ้งประชาชน สำหรับหลักสูตรการฝึกนั้นจะมีการปรับปรุงทุก 3-5 ปี ตามสภาพแวดล้อมของสถานการณ์ และหากเห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก ก็จะมีการปรับปรุงหลักสูตร คือทางเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ จะพิจารณาโดยมีคณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรดำเนินการไปในทิศทางที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งทุกอย่างจะมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะนั้นอย่างเหมาะสม - ฝึกวินัย ตามมาตรฐาน แม้ว่าพลทหารเหล่านี้จะมาฝึกร่วมกันเพียงแค่ 2 เดือนและเป็นทหารแค่ 2 ปี แต่เรามีระเบียบในการฝึกที่เป็นมาตรฐาน คือใน 1 วัน การปฏิบัติจะเริ่มตื่นนอนตั้งแต่ 05.30 น. และเริ่มเข้าระเบียบตั้งแต่ 06.00 น. หลังจากนั้นจะมีการแยกฝึกเป็นกองร้อยตามสนามฝึก หรือทำงานกันเป็นหมู่เป็นพวก มีการเรียนที่ทำให้นักเรียนมีความสนใจตลอดเวลา ครูฝึกแต่ละท่านจะมีวิธีการที่ทำให้พลทหารเหล่านี้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งครูฝึกแต่ละท่านนั้นมีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 10 ปี และมีความชำนาญมาก ที่สำคัญคือศฝท. มีหลักสูตรการฝึกที่มีมาตรฐาน ได้รับอนุมัติหลักสูตรนักเรียนพลกองประจำการภาคสาธารณศึกษา จากกรมยุทธศึกษาทหารเรือ โดยคณะกรรมการที่ดูแลหลักสูตร ดังนั้นมั่นใจได้เลยว่าการฝึกจะเป็นไปตามมาตรฐาน สามารถฝึกในเวลา 2 เดือนได้อย่างมีคุณภาพ นาวาเอก ธาดาวุธ บอกว่า ในส่วนของเสียงตอบรับของพลทหารในหลายปีที่ผ่านมาหลังจากปลดประจำการไปแล้ว ก็ได้มีการแวะเวียนมาเยี่ยม หลายคนปลดประจำการแล้วไปก็ไปเป็นนักธุรกิจ เป็นข้าราชการ ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าจุดเริ่มต้นการทำงานของเขาคือความมีระเบียบวินัย การรักพวกพ้อง มีความสามัคคี มีความเสียสละและเรื่องความมีกาลเทศะ ได้เอาเรื่องเหล่านี้ที่เคยฝึกมาไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างดี จนประสบความสำเร็จในการทำงาน หรือหากบางคนที่มีประวัติเกี่ยวกับยาเสพติดทางศูนย์ฝึกทหารใหม่จะมี โรงเรียนวิวัฒน์ทหาร ทำหน้าที่บำบัดฟื้นฟูและให้ความรู้กับนักเรียนพลกองประจำการที่เคยเสพยาเสพติด หลังจากที่เข้ารับการฟื้นฟูแล้วกลับออกไปก็ไปเป็นคนดีของสังคมสามารถกลับไปอยู่กับคนในสังคมได้อย่างปกติ อย่างเช่นมีผู้ปกครองหลายคนมาบอกว่าลูกกลับไปเยี่ยมบ้าน มีร่างกายแข็งแรงขึ้น การพูดจามีเหตุมีผล มีกาละเทศมากขึ้น นอกจากนี้เพื่อให้มีการเรียนรู้การปฏิบัติตามคำสั่ง การสร้างเสริมวินัยและการสร้างความแข็งแรงของร่างกาย ก็จะให้มีการออกกำลังกาย เมื่อได้กระทำความ ผิดเล็กๆน้อยๆเช่นการวิดพื้น หรือการวิ่ง จะไม่มีการผิดแปลกไปจากนี้และทุกอย่างจะอยู่ในกรอบของระเบียบอย่างเคร่งครัด และต้องดูสภาพอากาศด้วยว่าร้อนเกินไปหรือไม่ เพราะโดยหลักของการลงโทษแล้ว เพียงต้องการให้เขารู้ว่าเขาทำผิด และมีการปรับปรุงตัวต่อไปอย่างไรเท่านั้น - ตรวจสอบเมนูอาหารผ่านเวบไซต์ ในเรื่องของอาหารโภชนาการในตอนนี้คงลบคำว่าวิญญาณหมู วิญญาณไก่ไปได้เลย เพราะตอนนี้ทางกองทัพเรือมีนโยบายชัดเจน ให้ศฝท. ดูแลหทหารให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ที่เหมาะสม ซึ่งตอนนี้ในการทำอาหารแต่ละมื้อจะเป็นการทำโดยเป็นเมนูมาตรฐาน โดยสามารถบอกได้ว่าในแต่ละมื้อจะได้รับปริมาณสารอาหารเท่าไหร่ มีกี่กิโลแคลอรี่ และในเรื่องนี้ผู้ปกครองสามารถเข้าไปดูได้ทางเว็บไซต์ของศฝท. ได้เลย ว่าแต่ละมื้อพลทหารทานอะไรบ้าง เพราะทางเรามีการพัฒนาให้ทุกคนรับรู้ได้มากขึ้น รวมทั้งเปิดโรงประกอบเลี้ยงให้ทางผู้ปกครองได้เข้าไปดู นอกจากนี้โรงประกอบเลี้ยงของศฝท. ยังได้รับมาตรฐานและได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งสามารถเลี้ยงพร้อมกันได้ประมาณ 5,000 คน ฉะนั้นแล้วพลทหารทุกนายจะได้ทานข้าวพร้อมกันทุกคนทั้ง 3 มื้อ และหากใครไม่อื่มก็สามารถเติมข้าวได้จนอิ่ม - “ทหารเรือ จะไม่ทิ้งประชาชน” ทหารเรือมีความแตกต่างจากทหารเหล่าอื่นคือทหารเรือเป็นทหารที่ต้องปฏิบัติงานอยู่ในทะเล ต้องอดทนกับการใช้ชีวิตกลางทะเล การต้องอยู่ในที่แคบๆรวมกัน และการปฏิบัติงานในเรือ ซึ่งต้องมีการฝึกเป็นลักษณะเฉพาะและให้อดทนต่อการดำรงชีพในทะเล ไม่ว่าตอนนั้นสภาพดิน ฟ้าอากาศ จะเป็นแบบไหนเราก็ต้องอยู่ให้ได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสอนให้เขาเป็นทหารเรือที่แท้จริงและพร้อมที่จะเสียสละทำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน “จึงทำให้เกิดคำพูดที่ว่าทหารเรือจะไม่ทิ้งประชาชน จะอยู่เคียงข้างประชาชน ผบ.ทร. มีนโยบายให้ปลูกฝังว่า ทหารเรือต้องไม่ทิ้งประชาชน เป็นคำที่ท่านพูดอยู่เสมอ ดังนั้นในการสอนเราจึงนำคำนี้ปลูกฝังและสอนเข้าไปในการเป็นทหารเรือด้วย” และหลังจากปลดประจำการไปแล้วหากเขาเหล่านั้นมีอายุไม่เกิน24ปี มีความประพฤติดีก็จะสามารถไปสมัครสอบเข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนชุมพลทหารเรือ ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาก็จะได้รับการบรรจุและได้รับยศเป็นจ่าตรี ทำงานให้กองทัพเรือต่อไป พลทหาร ฐิติพงศ์ นะตะพันธ์ ทหารเกณฑ์กองทัพเรือ ผลัดที่ 1 เป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าว่าตั้งใจไปสมัครเป็นทหารเกณฑ์ เพราะเป็นโอกาสแค่ครั้งเดียวในชีวิตที่จะได้ใช้ชีวิต ชายชาติทหาร วันแรกที่เดินทางเข้าไปศูนย์ฝึกทหารใหม่ มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า จะเจอกับอะไรบ้าง จะฝึกไหวไหม แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่กระบวนการฝึก ในเดือนแรกจะเป็นการฝึกทหารท่ามือเปล่า หมู่แถวชิด ท่วงทีวาจา การฝึกพวกนี้จะเป็นฝึกเอาความพร้อมเพรียงของทหาร ซ้ายหัน ขวาหัน กลับหลังหัน คำสั่งพวกนี้บางคนมองเป็นคำสั่งที่ง่ายมาก ทำคนเดียวยังไงก็ทำได้แต่การที่จะทำให้คน100คนทำพร้อมกัน มันยากมาก จะฝึกอยู่อย่างงี้ประมาณสามสัปดาห์ จากนั้นก็เป็นการทบทวนท่าที่เรียนทั้งหมดและการสอบ “หนึ่งเดือนผ่านไปรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ตัดสินใจสมัครเข้ามาเป็นพลทหารกองประจำการกองทัพเรือ เพราะได้อะไรมามากกว่าที่คิด ได้ฝึกความอดทน ที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ได้ความรู้เกี่ยวกับการรักชาติรักแผ่นดิน ความกล้าหาญ ความเสียสละ ความมีวินัย ได้พรรคเพื่อนฝูง จากบุคคลหลายๆสาขาอาชีพเข้ามาเป็นทหารในผลัดเดียวกัน มาอยู่ มากิน มาฝึก มาใช้ชีวิตร่วมกัน หลังจากปลดประจำการแล้วหากมีโอกาสอยากสอบบรรจุเป็นข้าราชการของกองทัพเรือต่อไป” ทั้งนี้ กว่าที่พลเรือนซึ่งเคยใช้ชีวิต นอกกรอบ ต่างอาชีพ ต่างศาสนา จะเข้าไปเป็นทหาร ไปปฏิบัติตัวอยู่ในกรอบไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเขา กว่าพวกเขาจะเป็นลูกประดู่ได้อย่างเต็มตัว เขาต้องผ่านการฝึกฝน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สร้างความรักความสามัคคี แต่เชื่อว่าแม้จะปลดประจำการไปแล้ว พวกเขาก็ยังจำได้เสมอว่า ครั้งหนึ่งเคยเป็นทหารเรือ นักรบแห่งท้องทะเล เรื่อง: ชยณัฎฐ์ มีเงิน ภาพ : ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ