คปภ.เสริมเขี้ยวเล็บบุคลากร คปภ. ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมพยานหลักฐาน ในการลงโทษกรณีมีการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน - คืนเบี้ยประกันภัย โดยมุ่งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัยเต็มพิกัด ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการอบรมตามโครงการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือคืนเบี้ยประกันภัย ระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงาน คปภ. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในการบังคับใช้กฎหมายตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือคืนเบี้ยประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือคืนเบี้ยประกันภัย ถือเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งที่สำคัญในการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยให้ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบของกฎหมาย ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดอบรมความรู้ความเข้าใจให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อเพิ่มศักยภาพเกี่ยวกับการดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือคืนเบี้ยประกันภัย อันจะส่งผลต่อการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยให้ดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล และคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒ และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย และการพักใช้ใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาการกระทำของบริษัทประกันภัย คนกลางประกันภัย ตลอดจนผู้เอาประกันภัย จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมาย และองค์ประกอบของกฎหมาย เพื่อสามารถนำวิธีการไปใช้ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบ และรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน “บุคลากร เป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนพันธกิจหลักของสำนักงาน คปภ. ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความเข้มแข็งมั่นคง ส่งเสริมสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยมีบทบาทในการกระจายความเสี่ยง ร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจของสังคม ดังนั้น พนักงานขององค์กรจึงจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้และทักษะเชิงลึก มีความรู้ที่หลากหลายรอบด้านให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ประชาชน ผู้เอาประกันภัยมีความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยอย่างยั่งยืน โดยขั้นตอนต่อไปจะได้มีการฝึกฝนภาคปฏิบัติในส่วนของการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยจะได้เชิญทีมผู้เชี่ยวชาญมาติวเข้มด้านเทคนิคให้กับพนักงานของ คปภ.ต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย