ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 31.18 บาทต่อดอลลาร์ฯในช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังตลาดการเงินในประเทศกลับมาเปิดทำการหลังช่วงวันหยุดยาว โดยการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปตามภาพรวมของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินด้วยทุกเครื่องมืออย่างเต็มรูปแบบอย่างไม่จำกัดเพื่อหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับสู่เส้นทางการฟื้นตัว ทั้งนี้เงินบาทขยับแข็งค่าผ่านแนว 31.20 แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 31.18 บาทต่อดอลลาร์ฯในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/63 ของสหรัฐฯ ซึ่งหดตัวลงลึกสุดในรอบกว่า 70 ปี ในวันศุกร์ (31 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.18 เทียบกับระดับ 31.70 บาทต่อดอลลาร์ฯในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ก.ค.) สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.90-31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญในประเทศได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของกนง. อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค.ของไทย และปัจจัยทางการเมืองในประเทศ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร และข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP เดือนก.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน และรายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนมิ.ย. ส่วนปัจจัยอื่นๆที่ต้องติดตามได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ จีดีพีไตรมาส 2/63 ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.ค.ของจีน และยูโรโซน ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,328.53 จุด ลดลง 0.92% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 61,502.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.48% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.82% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 301.40 จุด โดยหุ้นไทยปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มธนาคารจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยซึ่งถูกกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 หลังสหรัฐฯ และเยอรมนีเปิดเผยจีดีพีไตรมาส 2/63 หดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังปรับลดประมาณการจีดีพีของไทยในปีนี้เป็นหดตัวจากเดิมคาดว่าจะขยายตัว อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ นำโดย แรงซื้อหุ้นในกลุ่มพลังงาน สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,315 และ 1,300 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,350 และ 1,365 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม กนง.(5 ส.ค.) ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค.ของไทย การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของบริษัทจดทะเบียนฯ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญได้แก่ ดัชนี PMI Composite ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนก.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆได้แก่ ดัชนี PMI Composite เดือนก.ค.ของจีนและยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย. ของยูโรโซน รวมถึงยอดส่งออกเดือนก.ค.ของจีน