สถานีพัฒนาที่ดินตรัง ขับเคลื่อนโครงการกำจัดขยะอินทรีย์เพื่อชุมชนภาคใต้ เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ จากเศษขยะเปียกและขยะแห้งในครัวเรือน นางจิราพร พรมราช หัวหน้าฝ่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน สถานีพัฒนาที่ดินตรัง เปิดเผยว่า ปัญหาขยะอินทรีย์นับวันจะมีมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร พฤติกรรมการบริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย การจัดการขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกหลักวิชาการ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม เช่น กลิ่นรบกวน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์โรค นางจิราพร เปิดเผยต่อไปว่า ถึงแม้ว่าหน่วยงานของภาครัฐจะมีหน้าที่รับผิดชอบต้องรับภาระในการจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ฝังกลบ การใช้เตาเผา กองทิ้งไว้กลางแจ้ง ซึ่งก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ยั่งยืน ซึ่งแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาเรื่องขยะมูลฝอย ต้องมีการจัดการจากแหล่งกำเนิด เช่น จากครัวเรือน ชุมชน และตลาดสด เป็นต้น และต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน “ทั้งนี้ ขยะอินทรีย์ คือ ขยะที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น เศษอาหาร เศษใบไม้ เป็นต้น แต่ถึงแม้ว่าจะย่อยสลายได้ง่าย แต่ขยะอินทรีย์ กลับเป็นหนึ่งในขยะที่คนละเลยมากที่สุด โดยมักทิ้งรวมกับขยะประเภทอื่น ๆ ทำให้การกำจัดทั้งขยะอินทรีย์ และขยะประเภทอื่น ๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทย ระบุว่าประเทศไทยมีขยะอินทรีย์คิดเป็นร้อยละ 64 จากขยะทั้งหมด 27.8 ล้านตัน ส่วนใหญ่มาจากอาหารเหลือทิ้ง” นางจิราพร กล่าว นางจิราพร กล่าวต่อไปว่า จริง ๆ แล้วเราสามารถกำจัดขยะอินทรีย์เองได้ที่บ้าน เพื่อลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ด้วยการนำเศษอาหารเหล่านั้นมาทำเป็นปุ๋ย สถานีพัฒนาที่ดินตรัง จึงได้ขับเคลื่อนโครงการกำจัดขยะอินทรีย์เพื่อชุมชนภาคใต้ ขึ้น เพื่อนำขยะอินทรีย์ จากเศษขยะเปียกและขยะแห้งในครัวเรือน มาผลิตเป็นปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ทรัพยากรดินได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง