“ศุภชัย”ระบุไทยแก้วิกฤตโควิดถูกทาง ระบุหลายอุตสาหกรรมมีอนาคต ชี้เทรนด์การแพทย์-อาหาร-สื่อสารออนไลน์มาแรง แนะผู้ประกอบการ-ภาครัฐช่วยกันต่อยอดธุรกิจ เตือนยังมีความเสี่ยงเผชิญหารค้าระหว่างประเทศที่หดตัวลง มั่นใจภาคธนาคารรับมือวิกฤติ-หนี้เสียได้ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO)เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของธนาคารกรุงไทย“NEXT IS NOW : พลิกวิกฤต ปรับกลยุทธ์ในยุคเศรษฐกิจใหม่” ว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกหรือไทยต่อจากนี้จะมีทิศทางเป็นอย่างไรยังไม่มีใครรู้จริง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนที่ประกาศว่าจะไม่มีการทำนายการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการค้าการลงทุนว่าจะมีทิศทางต่อไปเช่นไร อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือ ทุกประเทศต้องทำตัวเองให้ปลอดโรคระบาด รวมถึงแก้ปัญหาการทรุดตัวลงของอุปทาน ซึ่งเชื่อว่าหากอุปทานกลับมา อุปสงค์ของคนก็จะตามมาเอง ส่วนความเสี่ยงด้านสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ ในส่วนนี้ไม่เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะมีปัญหาหนี้ หรือคุณภาพสินทรัพย์ที่ต่ำอย่างที่ตลาดคาดการณ์ หรือกระทั่งที่มีคนเปรียบเทียบว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ดูจะเล็กน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับวิกฤตครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันระบบ การเตรียมพร้อม รวมถึงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์มีมากกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำหนดเอาไว้ ดังนั้นวิกฤตที่เกิดขึ้นคงไม่ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มจากระดับ 3% ในปัจจุบันสู่ระดับ 30% อย่างในช่วงต้มยำกุ้ง ขณะที่ในส่วนของการฟื้นเศรษฐกิจ แม้ประเทศไทยจะเดินมาถูกทางแล้ว กล่าวคือ เริ่มที่จะปลอดจากโรคระบาดได้แล้ว และการเพิ่มขึ้นของอุปทานจะช่วยให้ภาครัฐมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง แต่การหดหายของการค้าระหว่างประเทศซึ่งหดตัวต่อเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนตั้งแต่ปี 2562 จุดนี้อาจทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยง โดยปัจจุบันการค้าของไทยติดลบประมาณ 3-4% และตลาดคาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 2563 การค้าของไทยมีความเสี่ยงจะติดลบเลขสองหลัก (double digit) ทั้งนี้ยังมีบางธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ในโลกหลังโควิด-19 ได้แก่ การแพทย์เช่น ถุงมือยางธรรมชาติ ที่ปัจจุบันถุงมือยางธรรมชาติของไทยกลายเป็นที่ต้องการทั่วโลก ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารได้รับอานิสงส์จากที่โควิด-19 ส่งผลให้ทั่วโลกจะเกิดความเสี่ยงขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงในปี 2564 ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณประเทศจีนนำเข้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งจุดนี้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถต่อยอดธุรกิจเช่น แปรรูปอาหาร หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มมูลค่าอาหาร เป็นต้น และสุดท้ายการสื่อสารออนไลน์ (Telecommuting) จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวมากในโลกหลังโควิด-19 เช่น Amazon และ Zoom ฯลฯ เนื่องจากความต้องการสื่อสารผ่านออนไลน์ที่ถี่ขึ้นทั่วโลก