เกษตรตรัง ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดินในแปลงทดสอบเทคโนโลยีการควบคุมโรคลำต้นเน่าของปาล์มน้ำมัน สาเหตุจากเชื้อ Garnoderma sp. นายเรืองเดช นิเวศประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มอารักพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนพร้อมด้วย เจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดินในแปลงทดสอบเทคโนโลยีการควบคุมโรคลำต้นเน่าของปาล์มน้ำมัน สาเหตุจากเชื้อ Garnoderma sp. ตามโครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร กิจกรรมส่งเสริมการอารักขาพืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เจ้าของแปลง นายเกษม เกลือมีผล หมู่ที่ 3 ตำบลกะลาเส อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เพื่อหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคลำต้นเน่าของปาล์มน้ำมัน สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Ganoderma sp. สำหรับนำไปสู่การถ่ายทอดและส่งเสริมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรเพื่อใช้จัดการโรคต่อไป นายเรืองเดช เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับโรคลำต้นเน่าของปาล์มน้ำมัน (Basal stem rot) เป็นโรคของปาล์มน้ำมันที่ร้ายแรง พบแพร่กระจายในสวนปาล์มน้ำมันโดยเฉพาะในทางภาคใต้ สาเหตุเกิดจากเชื้อรา ที่มีชื่อว่า กาโนเดอร์มา (Garnoderma sp.) เป็นดอกเห็ดคล้ายเห็ดหลินจือ การพบดอกเห็ดบนต้นปาล์มนั้นแสดงว่า เส้นใยของเชื้อราได้เข้าไปทำลายเซลล์ในลำต้นปาล์มน้ำมันมากแล้ว มักจะทำให้ต้นปาล์มน้ำมันยืนต้นตายได้ภายใน 2-3 ปี หลังแสดงอาการของโรค “การป้องกันกำจัดโรคปาล์มลำต้นเน่า ทำได้ยากเนื่องจากเชื้อราก่อโรคอาศัยอยู่ในดิน เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม มันจะสร้างเส้นใยจำนวนมากแทงเข้าไปทำลายต้นปาล์มน้ำมัน ก่อนที่จะสร้างเป็นดอกเห็ดให้เห็น จึงทำให้การควบคุมโรคยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร” นายเรืองเดช กล่าว.