นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหนองคาย (กอปภ.นค.) ได้ติดตามสภาวะอากาศ และพิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เชิงพื้นที่จากข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กอปรกับ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ ฉบับที่ 1 (141/2563) ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 เรื่อง “ฝนตกหนัก และคลื่นลมแรงบริเวณประเทศไทย” ( มีผลกระทบถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2563) ว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ คาดว่าจะทวีกำลังรุนแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่นในระยะต่อไป และเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสู่ชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2563 ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการแจ้งเตือนภัยประชาชนและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และเน้นย้ำมาตรการในการเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ฝนตกสะสม ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2563 จึงแจ้งให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชาชน ให้ติดตามข่าวสาร สภาพน้ำท่า สภาพอากาศ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากในพื้นที่มีฝนตกต่อเนื่อง อาจทำให้มีปริมาณน้ำสะสม ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม พร้อมแจ้งฝ่ายปกครองในพื้นที่ให้การช่วยเหลือดูแลปฏิบัติตนและครอบครัว สำหรับคณะทำงานติดตามสถานการณ์ของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ ให้ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และหากประเมินสถานการณ์ว่าจะเกิดเหตุสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ ให้รีบเสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมายสั่งอพยพประชาชนอกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปอยู่ในจุดปลอดภัยโดยทันที ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยสร้างทาง หน่วยของชลประทาน หน่วยทหาร องค์กรการกุศล เป็นต้น ให้บูรณาการและประสานงานการเตรียมความพร้อม ทรัพยากร เครื่องจักร และแผนเผชิญเหตุ รวมถึง กำลังเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงแจ้งให้ประชาชนจัดเตรียมภาชนะรองรับน้ำฝน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคหากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง, บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง ให้จัดเจ้าหน้าที่ เรือ รถยกสูง คอยอำนวยความสะดวกในการสัญจรให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง และมอบหมายหน่วยบริการทางสาธารณสุขร่วมกับฝ่ายปกครองจัดเจ้าหน้าที่ สิ่งของเพื่อการดำรงชีพ เวชภัณฑ์ พบปะและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวกับประชาชน ตลอดจนชี้แจงถึงช่องทางการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งนี้ หากเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ ให้รายงานให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทราบทันที ทางโทรสารหมายเลข 0-4242-1014.