ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชียหรือ "เอไอไอบี" เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีที่มีภารกิจพัฒนาผลลัพธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจในเอเชีย เริ่มดำเนินงานเมื่อปี 2016 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน และปัจจุบันได้ขยับขยายตัวจนมีสมาชิกที่ผ่านการรับรองรวม 103 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก ลำดับเหตุการณ์สำคัญตามเวลานับตั้งแต่การก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) 16 มกราคม 2016 — มีการจัดพิธีเปิดธนาคารฯ ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน มิถุนายน 2016 — ธนาคารฯ อนุมัติเงินกู้ 4 รายการแรก มูลค่ารวม 509 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.59 หมื่นล้านบาท) เพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนโครงการพลังงาน เคหสถาน และคมนาคม ในบังกลาเทศ อินโดนีเซีย ปากีสถาน และทาจิกิสถาน มีนาคม 2017 — คณะกรรมการผู้ว่าการธนาคารฯ อนุมัติการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารฯ จำนวน 13 รายการ ซึ่งรวมถึงฮ่องกงของจีน และแคนาดา โดยนับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารฯ เปิดรับสมาชิกใหม่ตามแผนการนับตั้งแต่ก่อตั้ง ทำให้ธนาคารมีสมาชิกรวม 70 ราย ธันวาคม 2017 — ธนาคารฯ ประกาศการอนุมัติเงินกู้รายการแรกในจีน สำหรับโครงการก๊าซธรรมชาติในกรุงปักกิ่ง ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2021 โดยการลงทุนในโครงการนี้นับเป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Loan) รายการแรกของธนาคารฯ พฤษภาคม 2019 — ธนาคารฯ ออกพันธบัตร อายุ 5 ปี มูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.84 หมื่นล้านบาท) ในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นพันธบัตรระดับโลกที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ชุดแรกของธนาคารฯ กรกฎาคม 2019 — ธนาคารฯ ขยายจำนวนสมาชิกเป็น 100 ราย โดยมีสมาชิกใหม่จากแอฟริกา ได้แก่ เบนิน จิบูตี และรวันดา เมษายน 2020 — ธนาคารฯ ประกาศจัดตั้งศูนย์กู้วิกฤตโรคโควิด-19 (COVID-19 Crisis Recovery Facility) ด้วยงบประมาณตั้งต้น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.56 แสนล้านบาท) ก่อนตัดสินใจเพิ่มงบประมาณอีกเท่าตัวเป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.13 แสนล้านบาท) มิถุนายน 2020 — ธนาคารฯ เปิดตัวพันธบัตรสกุลเงินหยวนหรือแพนด้า บอนด์ (Panda Bond) มูลค่า 3 พันล้านหยวน (ราว 1.34 หมื่นล้านบาท) ณ ตลาดพันธบัตรระหว่างธนาคารประจำประเทศจีน (CIBM) โดยนับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารฯ ได้เข้าสู่ตลาดดังกล่าว และเป็นผู้ออกตราสารหนี้สากลระดับเครดิตสูงสุด (Triple-A) รายแรกที่เข้าสู่ตลาดฯ นับตั้งแต่มีการวางกรอบแนวทางพันธบัตรสกุลเงินหยวนสำหรับกำกับดูแลผู้ออกตราสารหนี้ต่างประเทศเมื่อปี 2018 29 กรกฎาคม 2020 — จากสมาชิกรุ่นก่อตั้ง 57 ราย ขยายเป็น 103 รายในปัจจุบัน โดยครอบคลุม 6 ทวีป ทั้งเอเชีย ยุโรป แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิก ธนาคารฯ ได้จัดหาเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เหล่าสมาชิกแล้วเกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.27 แสนล้านบาท)