ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ยังต้องบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. นี้ แนวโน้มจะมีฝนตกดีขึ้น เป็นโอกาสดีที่จะเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ สำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 28-30 ก.ค. 63 ว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุกประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ทำให้ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนเพิ่มขึ้น สำหรับภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 31 ก.ค.-3 ส.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ประกอบกับจะมีร่องมรสุมจะพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง นั้น สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(29 ก.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 31,614 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 7,970 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 44,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,378 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 682 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (29 ก.ค. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 6,639 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,325 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีกเพียง 925 ล้าน ลบ.ม. ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.ค. 63) ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้ว ประมาณ 8.69 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนฯ (แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 3.24 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 40 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่) สำหรับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำบ้างเล็กน้อย วันนี้(29 ก.ค. 63)เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวมประมาณ 76 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 8 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวม 24.42 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 12 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวมประมาณ 11 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวม 0.68 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวม 10.18 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 4.63 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 24.88 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ มีการระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ รวมกันประมาณ 64 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์น้ำจะเริ่มดีขึ้นในเดือนสิงหาคม เนื่องจากจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ทุ่งบางระกำ เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ และจะใช้พื้นที่ดังกล่าวรับน้ำหลากต่อไป ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกโครงการดำเนินการตามมาตรการ เข้าถึง เข้าพบ เข้าแก้ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารสถานการณ์น้ำแก่หน่วยงานท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ เกษตรกร และประชาชน ให้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจ และช่วยลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้แก่เกษตรกร พร้อมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อนจนกว่าจะมีฝนตกในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากตามแนวทางที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด