วันที่ 28 ก.ค.63 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า... ตอบโจทย์ให้รอบคอบและรอบด้าน! มีคำถามมาถึงผมว่าคณะกรรมการ 2 ชุด คือ ชุดอัยการ (7 คน) และชุดตำรวจ (10 คน) ที่ตั้งขึ้นมาช่วงวันหยุดยาวนี้ จะช่วยบรรเทาความอับอาย อึดอัด คับข้อง และคุกรุ่น ของสังคมไทย ได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด และถ้าไม่ได้ ใคร ควรต้องทำอย่างไร ? ขอตอบแบบคิดเร็วๆว่า “ได้บ้าง” ! อย่างน้อยก็แสดงว่าผู้นำประเทศได้ยินเสียงประชาชน รับรู้อารมณ์ความรู้สึกประชาชน มีปฏิกิริยาตอบสนองประชาชนได้ไม่ช้าเกินไป แต่เมื่อเทียบกับอาการของโรคแล้ว...ก็เปรียบเสมือนคนไข้หนักจากหลายโรครุมเร้าถูกหามเข้าไอซียู อนาคตยังไม่รู้หมู่หรือจ่า เป็นตายเท่ากัน ได้รับการรักษาแค่ให้กินพาราฯกับทายาแดง จะหวังให้หายคงไม่ได้ แค่รักษาชีวิตต่ออายุยังไม่รู้จะได้ไหม ต้องรักษามากกว่านี้ ถ้าต้องผ่าตัดก็ต้องผ่าตัด เนื้อไหนร้ายต้องตัดทิ้ง แม้อวัยวะถ้าจำเป็นต้องสละเพื่อรักษาชีวิตก็ต้องตัดสินใจทำ สังคมไทยเบื่อหน่ายกับระบบคณะกรรมการเต็มทน โดยเฉพาะกรรมการจากหน่วยเดียวกันสอบกันเอง คิดเร็วๆนะครับว่าถ้าจะยังใช้ระบบคณะกรรมการก็ต้องถึงขั้นนี้ครับ “คณะกรรมการอิสระระดับชาติ” “คณะกรรมการอิสระระดับชาติที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒินอกองค์กรอัยการและองค์กรตำรวจอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง” “คณะกรรมการอิสระที่ประธานกรรมการต้องไม่ใช่อัยการหรือตำรวจ” “คณะกรรมการอิสระระดับชาติที่ตั้งโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี” “คณะกรรมการอิสระระดับชาติที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจเรียกเอกสาร เรียกสำนวนการสอบสวน และบุคคลทุกฝ่ายเข้ามาชี้แจง” “คณะกรรมการอิสระระดับชาติที่มีอำนาจตรวจสอบทั้งคดีที่เป็นปัญหา และเสนอแนะภาพรวมของการแก้ไขปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาขั้นก่อนถึงศาล ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยาว โดยมีระยะเวลาการทำงานเพื่อเสนอรายงานเบื้องต้นภายใน 15 วัน” ย้ำอีกครั้งว่าต้องเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี ระบุหน้าที่ อำนาจ และกรอบระยะเวลาการทำงานให้ชัดเจน จึงจะตอบโจทย์ได้รอบด้านและควบคู่ไปกับระบบคณะกรรมการดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจะต้องเร่งนำเสนอร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการชุดท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ (ชุดที่ 2) เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมของรัฐสภาในฐานะร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 โดยไม่แก้ไขหลักการสำคัญให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯของรัฐสภาดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ต่อไป จึงจะเป็นการตอบโจทย์ได้รอบคอบและรอบด้านยิ่งขึ้นจึงจะเป็นการบรรเทาอาการอับอาย อึดอัด คับข้อง และคุกรุ่น ของสังคมไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ