นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า แผนการส่งเสริมการแข่งขันตลาดก๊าซธรรมชาติขณะนี้กำลังทำโครงสร้างราคาแข่งขันให้เป็นธรรม โดยดูทั้งสัญญาระยะยาวและตลาดจรที่จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยได้ใช้ก๊าซราคาต่ำและมั่นคงไปด้วย ซึ่งจะต้องนำเสนอ รมว.พลังงานคนใหม่และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาต่อไป โดยปัจจุบันมีผู้ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) แล้วทั้งหมด 5 รายคือ บมจ.ปตท.,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.),กลุ่มกัลฟ์,กลุ่มบีกริม และหินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท.กล่าวว่า บริษัทคาดว่าภายใน 2-3 เดือนนี้จะมีความชัดเจนสรุปเลือกวิธีการประสานความร่วมมือในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หลังจากหารือกับ ปตท.อย่างใกล้ชิด เพื่อเลือกวิธีการที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันในการยื่นขอใบอนุญาต LNG Shipper รายใหม่ ทั้งนี้ได้ศึกษาทั้งสัญญาส่วนเกินจากสัญญาขั้นต่ำของการซื้อขายไฟฟ้า หรือ minimum take และในส่วนของโรงไฟฟ้า SPP ทดแทน(SPP replacement) 7 สัญญา กำลังผลิตประมาณ 600 เมกะวัตต์ โดย จีพีเอสซี มีปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯที่ถือว่ามีนัยยะสำคัญ การนำเข้าแอลเอ็นจี เพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นได้ แต่ก็ต้องทำให้ไม่กระทบ ปตท.ด้วย นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท.กล่าวว่า ปตท.เป็นผู้ค้าก๊าซมานานและรายใหญ่ จึงมีศักยภาพที่จะจัดหา LNG เพื่อเสริมจุดแข็งให้กับจีพีเอสซี และพร้อมเสนอป้อนให้กับผู้นำเข้าทุกราย ส่วนสถานการณ์ความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศ ล่าสุดเดือนก.ค.63พบว่าความต้องการใช้เริ่มกลับมา จากช่วงล็อกดาวน์ต้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนมี.ค.-เม.ย.63 ที่ช่วงนั้นความต้องการใช้ก๊าซฯในภาคอุตสาหกรรมลดลงประมาณ 10-15% จากที่ใช้อยู่ประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซฯในภาคไฟฟ้าลดลงประมาณ 2-3% จากที่ใช้อยู่ในระดับประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน