นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อประเมินความสนใจเบื้องต้นของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราดว่า รฟท.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงิน แนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ออกแบบและประมาณราคาค่าก่อสร้างเบื้องต้น และการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการดังกล่าว เพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการเดินทางและการขนส่งสินค้าในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัด ระยอง-จันทบุรี-ตราด มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 ฝั่งตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภาผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยอง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3574 (ระยอง-บ้านค่าย) ห่างจากสี่แยกเกาะลอยประมาณ 3 กิโลเมตร (กม.) จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าสู่อำเภอแกลง เข้าสู่สถานีแกลง ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ห่างจากสามแยกแกลง ประมาณ 2 กม. นอกจากนี้ วิ่งตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่บางช่วง ผ่านอำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ เข้าสู่สถานีจันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกเขาไร่ยา ผ่านอำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เข้าอำเภอเขาสมิง และมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีตราด ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บนทางหลวงหมายเลข 3 (ถ.สุขุมวิท) ห่างจากสามแยกตราด ประมาณ 2 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 190 กม. ทั้งนี้จากผลการศึกษาหากก่อสร้างสถานีระยอง แกลง จันทบุรี และตราดแล้วเสร็จ พร้อมเปิดดำเนินการภายในปี 2571 จะมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 5.39 % ส่วนรูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้น เบื้องต้น รฟท.ได้เสนอรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน แบบ PPP Net Cost โดยเสนอเป็น 3 แนวทางเลือกคือ 1.เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งงานโยธา งานระบบ ขบวนรถ และ งาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน2.เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานเฉพาะงานระบบและตัวรถ และงาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน และงานโยธา 3.เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเฉพาะงาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน งานโยธา งานระบบ และขบวนรถ โดยการประชุมฯในครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและนักลงทุนที่มีความสนใจ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการโครงการ เพื่อนำไปสู่การสรุปแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนก่อนนำเสนอขออนุมัติโครงการ จากนั้นจึงดำเนินการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุนต่อไป รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า แผนการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 190 กม.นั้น จะศึกษาแล้วเสร็จภายใน ส.ค.63 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายเขต พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบ และส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในปี 2564 จากนั้นจะจัดเตรียมเอกสาร PPP รวมถึงรายงานผลกระทบและวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในปี 2565 นำไปสู่การหาผู้ลงทุนพร้อมทั้งออกแบบและก่อสร้างในปี 2567 ก่อนที่จะทดสอบระบบและเปิดให้บริการในปี 2571 ขณะที่เส้นทางของโครงการดังกล่าว จะผ่าน 11 อำเภอ 3 จังหวัด โดยมีจำนวน 4 สถานีได้แก่ สถานีระยอง สถานีแกลง สถานีจันทบุรี และสถานีตราด มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งอยู่ที่จังหวัดระยอง ในด้านการเดินรถนั้น ใช้ความเร็วสูงสุดในการเดินรถ 250 กม./ชั่วโมง (ชม.) ในส่วนของระยะเวลาในการเดินทางนั้น ช่วงสถานีดอนเมืองถึงสถานีตราด จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชม. 14 นาที (จอดเฉพาะสถานีหลัก) กรณีจอดทุกสถานีใช้เวลาเดินทาง 2 ชม. 54 นาที ขณะที่ช่วงสถานีอู่ตะเภาถึงสถานีตราด จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 64 นาที โดยในส่วนของจำนวนผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายจากสถานีอู่ตะเภาถึงสถานีตราด คาดการณ์ว่าในปี 2571 จะมีผู้โดยสาร 7,429 คนต่อวัน, ปี 2581 มีผู้โดยสาร 10,896 คนต่อวัน, ปี 2591 มีผู้โดยสาร 15,251 คนต่อวัน และปี 2601 มีผู้โดยสาร 19,575 คนต่อวัน ขณะที่อัตราค่าโดยสารนั้น จะอยู่ที่ 95 บาท (แรกเข้า)+2.10 บาท/กม. (ปี 2571) สำหรับแนวคิดในการออกแบบสถานีรถไฟความเร็วสูงในโครงการดังกล่าว จะคำนึงถึงความสะดวกสบายในการใช้บริการของผู้โดยสาร รวมทั้งความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนน้อยที่สุด นอกจากนี้จะส่งเสริมความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ด้วยการนำรูปทรงผลไม้ที่โดดเด่นในแต่ละพื้นที่มาประยุกต์ใช้ในงานสถาปัตย์ เพื่อส่งเสริมนโยบายการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก สร้างการจดจำให้แก่ผู้มาเยือน รวมทั้งสร้างความภาคภูมิใจให้กับประชาชนในท้องถิ่น และยังสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย