ขยะยังคงเป็นปัญหา และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อม มนุษย์ และสิ่งมีชีวิตจากประชากรที่เพิ่มขึ้น ชุมชนเกิดการขยายตัว วิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนการบริโภคที่มากขึ้น จากสถิติกรมควบคุมมลพิษพบว่าปี 2561 ระบุว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 1.4 แต่มีปริมาณขยะมากถึง 10 ล้านตัน ที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี ทั้งนี้จากการที่รัฐบาลได้ประกาศ Roadmap การจัดการขยะและของเสียอันตรายของประเทศ แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศระยะสั้น (พ.ศ.2559-2564) และแผนปฏิบัติการ "ประเทศไทยไร้ขยะ" ตามแนวทาง "ประชารัฐ" ระยะ 1 ปี (พ.ศ.2559-2560) จากแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2563 โดย สำนักสิ่งแวดล้อม ระบุว่า "กรุงเทพมหานคร" ได้มีการกำหนดแนวทางจัดการขยะในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปีพ.ศ. 2556-2575 โดยมีวิสัยทัศน์ "มุ่งเน้นจัดการขยะที่แหล่งกำเนิดโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตามแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ (Zero waste Management)" สร้างความตระหนักรู้ในการลดปริมาณขยะตามหลัก 3R คือ Reduce, Reuse and Recycle และทำให้มูลฝอยเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือ (Residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล พร้อมส่งเสริมการลดและคัดแยกมูลฝอยในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะและพัฒนาเป็นต้นแบบการลดและคัดแยกมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพ ในพื้นที่ 50 เขต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น โดยมีผลการดำเนินการเริ่มตั้งแต่ "การจัดการขยะต้นทาง" โดยการคัดแยกขยะและใช้ประโยชน์จากขยะที่ต้นทาง ได้แก่ ขยะรีไซเคิลแยกขายเอง ขยะกิ่งไม้ใบไม้คัดแยกทำปุ๋ย หรือส่งโรงงาน และเศษอาหารแยกหมักทำปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ ไว้ใช้เอง หรือแยกให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ ปีงบประมาณ 2562 ใช้ประโยชน์ได้ 3,029.98 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะรีไซเคิล 2,208.65 ตันต่อวัน และขยะอินทรีย์ 821.33 ตันต่อวัน รวมถึงการคัดแยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป และจุดทิ้งขยะอันตรายในพื้นที่ชุมชนตามระเบียบฯ 1 จุด/แห่ง จำนวน 2,065 แห่ง สำนักงานเขต จำนวน 50 แห่ง สำนักสิ่งแวดล้อม 1 แห่ง สถานีบริการน้ำมันเชลล์ จำนวน 106 แห่ง โดยส่งเสริมให้คัดแยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป และทิ้งขยะอันตราย ในจุดที่จัดไว้ในส่วนของ "การจัดการขยะกลางทาง" กทม.ได้จัดรถเก็บขนมูลฝอยให้ทุกสำนักงานเขตเข้าบริการจัดเก็บขยะเพื่อนำเข้าสู่ระบบกำจัดอย่างทั่วถึง โดยส่วนใหญ่เป็นขยะทั่วไป และบางส่วนได้จัดเก็บแยกประเภท ได้แก่ 1. ขยะทั่วไป เป็นขยะที่ประชาชนไม่ใช้ประโยชน์และทิ้งลงถังขยะ ซึ่งต้องจัดรถเก็บเป็นประจำ ไม่ให้มีขยะตกค้าง โดยกำหนดจุดทิ้งขยะให้ชัดเจน กำหนดวันเวลาทิ้ง ติดตั้งป้ายประกาศแจ้งวันเวลาเก็บให้ชัดเจน ได้แก่ บริเวณ ถนนสายหลัก ถนนสายรอง จัดเก็บทุกวัน โดยให้ประชาชนทิ้งขยะเวลา 20.00-03.00 น. และสำนักงานเขตเข้าจัดเก็บให้เสร็จเรียบร้อยก่อน 05.30 น. เพื่อหลีกเลี่ยงการกีดขวางการจราจร ด้านตรอก ซอย ชุมชน สำนักงานเขตกำหนดวันเวลาจัดเก็บ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยใช้รถเก็บขนมูลฝอยประเภทต่างๆ ทั้งแบบอัด ขนาด 2 ตัน และขนาด 5 ตันและรถเก็บ ขนมูลฝอยประเภทอื่นๆ จำนวนกว่า 2,000 คัน รวบรวมและขนส่งศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช สายไหม และหนองแขม 2. ขยะอินทรีย์ จัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด ในจุดใหญ่ๆ เช่น เศษผักผลไม้จากตลาด ร้านค้าผลไม้ริมถนนสายหลักและถนนสายรอง และจัดเก็บกิ่งไม้ ใบไม้ จากการบริการตัดแต่งต้นไม้ในบ้านเรือนประชาชน และการตัดแต่งต้นไม้ในที่สาธารณะจากการปฏิบัติหน้าที่ประจำ และนำไปบดย่อยทำปุ๋ยหมักในพื้นที่เขตหรือส่งไปยังโรงงานหมักปุ๋ยอินทรีย์ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม 3. ขยะอันตราย จัดเก็บทุกวันอาทิตย์ทุก 15 วัน หรือตามที่สำนักงานเขตกำหนด โดยใช้รถเปิดข้างเทท้ายขนาด 1.5 ตัน และ 2 ตัน หรือรถกระบะเทท้าย ขนาด 6 ตัน นำส่งศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้ง 3 แห่ง ของกรุงเทพมหานคร เพื่อพักรอการนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล และ 4. ขยะติดเชื้อ บริการจัดเก็บขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาล มหาวิทยาลัย หรือสถานที่ที่มีขยะติดเชื้อในเขตกรุงเทพมหานคร ตามวันเวลาที่นัดหมาย โดยจัดรถควบคุมอุณหภูมิเก็บรวบรวมขยะติดเชื้อ ส่งกำจัดที่โรงงานเตาเผาขยะติดเชื้อที่หนองแขมและอ่อนนุช ขณะที่ "การจัดการขยะปลายทาง" ขยะที่จัดเก็บได้จาก 50 เขตจะถูกขนส่งไปยังศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม โดยนำไปกำจัดด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่ 1. ขยะทั่วไป ปริมาณมูลฝอยทั่วไปของกรุงเทพมหานครที่จัดเก็บได้ปีงบประมาณ 2562 เฉลี่ย 10,564.48 ตัน/วัน กำจัดด้วย 3 เทคโนโลยี คือ โรงงานหมักปุ๋ยอินทรีย์อ่อนนุช จำนวน 1,600 ตัน/วัน , โรงงานเตาเผาขยะผลิตไฟฟ้าหนองแขม จำนวน 500 ตัน/วัน และ การฝังกลบ โดยจ้างเอกชนนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และจ้างเอกชนนำไปกำจัดโดยการฝังกลบที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 2. ขยะติดเชื้อ กำจัดโดยการเผาที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม รวม 15,524.29 ตัน เฉลี่ย 42.53 ตันต่อวัน 3. ขยะอันตราย รวบรวมไว้ที่จุดพักที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย และจ้างเอกชนนำไปกำจัดด้วยวิธีที่ถูกหลักวิชาการ ซึ่งขยะอันตรายที่เก็บรวบรวมได้ในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 1,229.34 ตัน เฉลี่ย 3.37ตันต่อวัน 4. ขยะกิ่งไม้และเศษผักผลไม้ นำไปบดย่อยผสมกากตะกอนสิ่งปฏิกูลหมักปุ๋ยอินทรีย์ ได้ปริมาณปุ๋ยอินทรีย์รวม 12,542.91 ตัน เฉลี่ย 34.36 ตันต่อวัน โดยใช้ประโยชน์จากกิ่งไม้ 51.06 ตันต่อวัน เศษผัก ผลไม้ 63.69 ตันต่อวัน เพื่อนำไปหมักทำปุ๋ย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การกำจัดขยะมูลฝอยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรุงเทพมหานครจึงได้เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านการกำจัดมูลฝอย(Private Public Partnership) ภายใต้โครงการโรงกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้เพื่อผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และ จะมีการก่อสร้างโรงกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวันที่ศูนย์ กำจัดมูลฝอยหนองแขม สร้างส่วนร่วมประชาชน "ทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา" ที่ผ่านมา สำนักสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินโครงการ "ทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา" ซึ่งเป็นโครงการตามวาระการพัฒนากรุงเทพมหานคร ประจำปี 2561 NOW : ทำจริง เห็นผลจริง ในระยะ 100 วัน ด้วยการกำหนดจุดทิ้งขยะบนถนนสายหลัก สายรอง ชุมชน และริมคลอง และติดตั้งป้ายแสดงรายละเอียดวัน เวลาทิ้งขยะและเวลาเข้าจัดเก็บขยะ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในการทิ้งขยะ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการสร้างวินัยในการทิ้งขยะของประชาชน ลดปัญหาขยะตกค้างจากการทิ้งขยะนอกจุดและนอกเวลาที่กำหนด อีกทั้งยังสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะผู้ร่วมตรวจงาน ร่วมรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยอีกด้วย โดย นายอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ระบุถึง โครงการทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว เมื่อวันที 2 พฤษภาคม 2561 ว่า ขยะเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และพวกเราทุกคน ในการแก้ปัญหา ปัจจุบัน ได้เริ่มโครงการในพื้นที่นำร่องของทั้ง 50 เขต โดยให้เขตจัดหาจุดทิ้งและจัดคอกขยะเป็นจุดทดลองให้แต่ละพื้นที่มีอิสระทางความคิด ร่วมกันออกแบบ ออกไอเดีย เพื่อสร้างสรรค์งานให้ออกมาดีที่ดีสุดตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ "โครงการทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา จะสำเร็จได้จริงหรือจะลบภาพกองขยะข้างถนนได้จริงหรือไม่นั้น ทุกคนเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเมืองของเรา และช่วยลบภาพของการทิ้งขยะเกลื่อนกลาดตลอดสองข้างถนนได้ หากประชาชนทุกคนช่วยกันทิ้งให้เป็นที่ เจ้าหน้าที่ กทม.เก็บให้เป็นเวลา จะสามารถร่วมกันทำให้กรุงเทพมหานครของเราสะอาดและสวยงามขึ้นได้"ผู้ว่ากทม.ระบุ ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อม บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์สร้างจิตสำนึกในการลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการรณรงค์นัดทิ้งนัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ในวันที่กำหนด อีกทั้งมีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมและภาคีเครือข่ายดำเนินการตามโครงการความร่วมมือภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมในการจัดการขยะพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ได้เร่งกำกับควบคุมให้มีการบังคับใช้กฎหมายการจัดการขยะในทุกพื้นที่อย่างเคร่งครัด เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะโดยการรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด ทั้งการคัดแยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป คัดแยกขยะรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ เสริมสร้างวินัยและจิตสำนึกการคัดแยกขยะในโรงเรียน เพิ่มจุดทิ้งขยะและถังขยะแยกประเภทในที่สาธารณะ และในชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ 50 สำนักงานเขต รวมถึงพัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ช่วยดักขยะและจัดเก็บขยะลดปัญหาการทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำ คู คลอง โดยเพิ่มจำนวนการจัดวางแพลูกบวบเพื่อสกัดกั้นขยะและผักตบชวาจากคลองลงสู่แม่น้ำ ในส่วนของอุปกรณ์เครื่องมือในการจัดเก็บขยะเดิมเป็นเรือท้องแบน ขนาด 2x6 เมตร หรือ 2x8 เมตร ปัจจุบันได้จัดหาเรือประเภทต่างๆ เพื่อใช้ในการจัดเก็บขยะและวัชพืช ในแม่น้ำเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการจัดเก็บขยะ ได้แก่ เรือกำจัดวัชพืช ขนาด 4x14 เมตร เรือขนถ่ายและลำเลียงวัชพืช ขนาด 6x14 เมตร เรือขนถ่ายลำเลียงมูลฝอยและวัชพืช ขนาด 6.3x19 เมตร เรือกวาดเก็บมูลฝอยและวัชพืช ขนาด 3.5x14 เมตร ซึ่งเรื่องดังกล่าวสามารถใช้งานได้อย่างคล่องตัวและจัดเก็บขยะได้จำนวนมากทำให้การจัดเก็บขยะและวัชพืช เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ