ดูเหมือนจู่ๆ มรสุมการเมืองจะพัดกระหน่ำเข้าใส่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อแฟลชม็อบนักศึกษา ไม้เบื่อไม้เมากลับมาลงถนนอีกครั้ง ในขณะที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจพากันชักแถวลาออกไป เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะภายในพรรคพลังประชารัฐเองนั้น เคลื่อนไหวต่อรองเก้าอี้กันอย่างคึกคัก เปิดหน้าเปิดตัวกันแบบไม่มีกั๊ก แม้จะตั้งตารอการปรับครม.มาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม กับความพยายามถอดสลัก เห็นได้จากการสะกิดให้รัฐมนตรีจากพรรคเล็ก อย่างพรรคชาติพัฒนาลุกจากเก้าอี้ เมื่อ "บิ๊กตู่" แย้มชื่อเสนาบดีที่จะเข้ามาแทนที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ 3 รัฐมนตรีในกลุ่ม 4 กุมาร ที่ลาออกไป โดยยอมรับว่าทาบทามคนนอก อย่าง ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยเข้ามาทำหน้าที่ และมีชื่อของ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีต รมช.คมนาคม เข้ามานั่งในเก้าอี้รมว.พลังงาน ในส่วนของ "ปรีดี"นั้น ไร้เสียงต้านจากภายในพรรค ติดอยู่ตรงเก้าอี้ที่ "ไพรินทร์" จะเข้ามานั่งนั้น ไพบูลย์ นิติตะวัน สวมบทหัวหมู่ทะลวงฟันค้านสุดตัว ว่าให้ทบทวนแคนดิเดตรมว.พลังงาน จากคนนอกเสียใหม่ โดยชี้ว่าไพรินทร์นั่งเก้าอี้รมว.พลังงานไม่ได้ เพราะจะเกิดปัญหา ผลประโยชน์ทับซ้อน และที่ชัดเจนยิ่งกว่าสัญญาณ 5 จี ก็เมื่อ "เสี่ยแฮงค์"อนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคป้ายแดง เรียกประชุมพรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อรัฐมนตรีในโควต้าพรรค 5 ตำแหน่งให้คณะกรรมการบริหารพรรค ส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรมว.มหาดไทย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็น รมว.พลังงาน "อนุชา" เป็น รมว. อุตสาหกรรม สุชาติ ชมกลิ่น รองหัวหน้าพรรค เป็น รมว.แรงงาน และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทว่า กลับมีกระแสข่าวออกมาอีกว่า โผครม.ฉบับพรรคพลังประชารัฐนั้น ไม่ตรงกันกับ โผครม.ในมือของนายกรัฐมนตรี ที่จะมีหลายคนไม่สมหวัง ไม่ว่าจะเป็น "สุริยะ" ที่อาจต้องนั่งที่เดิม ที่กระทรวงอุตสาหกรรม "อนุชา" ที่อาจต้องสลับไปนั่งรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ "นฤมล" ที่อาจต้องชวดเก้าอี้ "การตัดสินใจทุกอย่างขึ้นกับ นายกรัฐมนตรี เท่านั้น ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใด สามารถทำงานเพื่อบ้านเมืองได้ แต่ยังไม่ได้รับสัญญาณเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจากนายกรัฐมนตรี หรือจากหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ" นฤมล ระบุ และนั่นทำให้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำกลุ่มสามมิตร เอ่ยเป็นนัยๆ ว่าพรรคพลังประชารัฐยังเป็นพลังหรือไม่ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีอยู่ ซึ่งพวกตนได้ทำตามหน้าที่ของตนเอง ครบถ้วนแล้ว จึงไม่อยากคิดมาก เพราะหากคิดมากก็คงนอนไม่หลับ ตนก็นอนไม่หลับ ขณะที่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับโผครม. อย่างอารมณ์ดีว่า "เรียบร้อยดี ไม่มีอะไร" กระนั้น ทอดตาไปทั่วปริมณฑลทางการเมือง กลับเต็มไปด้วยม่านหมอกที่ขมุกขมัวและฝุ่นที่ยังตลบอบอวล ตราบใดที่โผครม.ยังไม่โปรดเกล้าฯลงมา นั่นทำให้ยังมีการเคลื่อนไหวต่อรองตำแหน่ง ด้วยแม้บรรดานักการเมือง จะพูดว่าการแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว แรงเสียดทานต่างๆ ยังคงถาโถม โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบปรมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ล่มไม่เป็นท่า เพียงเพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะแตะโควตารัฐมนตรีในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล การปรับครม. ตู่2/2 จึงเต็มไปด้วยเส้นทางวิบาก และซับซ้อน ในขณะเดียวกันก็ท้าทายต่ออำนาจที่แท้จริงของนายกรัฐมนตรี เพราะหากปรับเอาคนนอกที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามายกทีม ก็อาจจะกระทบกับโควตาของนักการเมือง ทำให้อยู่ลำบาก ดังนั้น การหักกับบรรดากลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐ หรือในพรรคร่วมรัฐบาล ย่อมจะทำให้รัฐบาลอยู่ยาก จนมีเสียงลือเรื่องของการยุบสภา ลอยลมมา แม้ "บิ๊กตู่" จะเดินตามรอย "ป๋าเปรมโมเดล" ซึ่งทีมเศรษฐกิจในยุคป๋าได้รับเสียงชื่นชมว่า แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น สมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรมว.คลัง เสนาะ อูนากูล อดีตเลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ และ "ดร.โกร่ง"วีระพงษ์ รามางกูร เป็นคณะที่ปรึกษา ที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยด้วยการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทหลายครั้ง แต่ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังลดค่าเงินบาทขึ้นมารองรับ โดยมี เสนาะ อูนากูล เป็นประธานศูนย์ร่วมกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้น กำจร สถิรกุล และโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นเลขานุการศูนย์ ผลักดันมาตรการต่างๆ แบบวันต่อวัน จนในที่สุดเศรษฐกิจไทยกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง จนนิตยสารไทม์ และ นิวส์วีก ฉบับเอเชีย ยกให้ไย เป็น "เสือเศรษฐกิจตัวที่5 แห่งเอเชีย" ซึ่งการที่รัฐบาล "บิ๊กตู่" ผุดศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ทำงานในรูปแบบเดียวกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 “ศบค.” ก็เหมือนเดินตามแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยุคนั้น แต่แม้จะเดินตามรอย "ป๋าเปรม" แต่ก็มีความต่างอยู่ในรายละเอียด โดยเฉพาะในสมัยป๋าเปรมที่พรรคร่วมรัฐบาลรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นแล้ว จึงมาร่วมงานกับพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทำให้ไม่เกิดการตีรวน ขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน เป็นการรวมกลุ่มก๊วนต่าง ๆและพรรคร่วมรัฐบาล มาสนับสนุน "บิ๊กตู่ เป็นนายกฯ โดยโมเดลของ "ป๋าเปรม"นั้น นำคนนอกเข้ามาร่วมครม.ให้น้อยที่สุด เนื่องจากตระหนักดีว่า ระบบพรรคการเมือง เสียงในสภาฯนั้นมีความสำคัญ โควต้าของ "ป๋าเปรม"ที่เป็นคนนอก จึงมีเพียง "สมหมาย" ที่มานั่งเป็นรมว.คลัง พล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร เป็นรมว.มหาดไทย และร.ต.อ.ชาญ มนูธรรม อดีตรมช.คมนาคม โดย "ป๋าเปรม" ให้ดร.โกร่งเข้ามาเป็นคณะที่ปรึกษา แทนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี โดยเข้าร่วมประชุมครม.ทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นครม.ทั่วไปหรือครม.เศรษฐกิจก็จะให้ "ดร.โกร่ง"เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ขอว่าอย่าแสดงความเห็นในที่ประชม แต่หากอยากจะแสดงความเห็นให้ส่งสัญญาณ เช่น ทำสัญญาณมือต่ำๆ แล้ว "ป๋าเปรม"จะชี้ให้พูด ซึ่งทำให้การทำงานในทีมเศรษฐกิจมีความราบรื่น นี่อาจเป็นทางออกให้กับ "บิ๊กตู่"ในการเก็บคนในดวงใจเอาไว้ข้างกายในตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่รัฐมนตรี เพื่อประนีประนอมกับนักการเมือง กระนั้น ก็ยังมีความเป็นไปได้ ในการรับมือกับแรงเสียดทานทางการเมืองของ "บิ๊กตู่"เอง ก็ถือว่ายังมีทางหนีทีไล่อยู่พอสมควร โดยเฉพาะมีการตั้งข้อสังเกตท่าทีของพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งออกแถลงการณ์ "ข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อหาทางออกของประเทศ" นั้น เต็มไปด้วยนัยของไมตรีจิต ผิดวิถีฝ่ายค้าน จนพรรคก้าวไกลยังรู้สึกวังเวง ปฏิกิริยาเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้บรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ที่ออกอาการเฮี้ยว อาจต้องหยุดรอดูสัญญาณไม่ปกตินี้ และแม้แต่บรรดากลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐเองก็ตาม โดยเฉพาะนักรบที่มีบาดแผลทั้งหลาย หากคึกคะนองเกินไป ก็อาจจะปุ๊บปั๊บรับโชคมีคดีความทางการเมืองเกิดขึ้น ฉะนั้น การปรับครม.รอบนี้ อาจไม่ใช่การปรับครม.ใหญ่ และยังไม่สะเด็ดน้ำ ปลายปีอาจจะต้องมีปรับกันอีกรอบ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน