หมายเหตุ : “เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่น่าจับตามอง โอกาสนี้ได้ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงบทบาทการทำหน้าที่ “โฆษกพรรครวมพลังประชาชาติไทย” ภายหลังได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมใหญ่พรรคล่าสุด พร้อมกันนี้ เขตรัฐยังเสนอมุมมองการเมืองในยุค New Normal เอาไว้อย่างน่าสนใจ -การทำหน้าที่โฆษกพรรค มีบทบาท และกรอบการทำงานอย่างไรบ้าง ต้องเรียนว่า การจัดตั้งพรรคครั้งแรกเราเป็นคอนเซปต์กองงานโฆษก ซึ่งเป็นการช่วยงานกัน โดยจะมี ส.ส.อีกท่าน คือ คุณเพชรชมพู กิจบูรณะ ก็เป็นโฆษกเช่นเดียวกัน แต่ภาพจำของสังคมคนที่ออกมาตอบโต้ หรือชี้แจง มักจะเป็นผม พรรคเลยเข้าใจว่าผมเป็นโฆษกเพียงคนเดียว ซึ่งจริงๆ มีโฆษก 2 คน แต่ถามว่า ขอบเขตของงานที่จะทำในบทบาทโฆษกพรรค เราจะเน้นไปในเชิงบวก ถ้าอะไรก็ตามที่เป็นเชิงลบที่พรรคไม่ได้รับผลกระทบ เป็นการสาดโคลน หรือสร้างความเสียหาย สร้างความเข้าใจผิดให้กับพี่น้องประชาชนโดยไม่จำเป็น เราก็จะไม่เล่นเกมในรูปแบบนี้ จะเน้นการทำงานเชิงบวก ยกตัวอย่าง ขณะนี้คุมกระทรวงแรงงานอยู่ พรรคจะมีการดำเนินการพูดคุยกับประชาชน กระทรวงแรงงานเป็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคือ ลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ ซึ่งพรรคจะเป็นตัวกลางระหว่างประชาชน คือ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกอบการ โดยภาครัฐจะไปฟังความคิดเห็นต่างๆ และนำข้อมูลมาตกผลึกกันในพรรค เพื่อจัดทำเป็นนโยบาย มีการจัดตั้งคณะกรรมการทั้งหลายขึ้นมาเพื่อทำงานร่วมกับภาคประชาชนให้มากที่สุด และนำนโยบายรูปแบบการทำงานเหล่านี้ เสนอสู่สังคม และนำไปสู่การผลักดันเป็นนโยบายในการทำงานของกระทรวงแรงงาน -ประเด็นการเมือง เราจะเน้นชี้แจง หรือตอบโต้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับอารมณ์ของสิ่งที่มากระแทกเรา ถ้าสิ่งที่มากระแทกรุนแรง หรือโดนฮุคขวา บางทีเราก็ต้องฮุคซ้ายคืน แต่โดยเจตนาเราเองไม่ได้อยากที่จะทำอย่างนั้น ซึ่งเราจะเน้นชี้แจงมากกว่าตอบโต้ -ในฐานะนักการเมืองรุ่นใหม่ เข้ามาสู่สภาฯ มองการเมืองอย่างไรบ้าง การเมืองวันนี้ นักการเมืองต้องช่วยกันไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายไหนก็ตาม ทุกคนต้องช่วยกัน สร้างความเข้าใจ ช่วยกันกู้ศรัทธาทางการเมืองกลับมา ผมได้สัมผัสช่วงความหวังของประชาชนที่ต้องการเห็นการเมืองรูปแบบใหม่ในช่วงเลือกตั้ง ความหวังที่เขามี ความทุ่มเทที่เขาให้ ความสนใจที่เขาใส่เข้าไป แต่ทันทีที่เขาได้กลับมาเห็นการเมือง ซึ่งผมเองพอเดาได้ว่า มันจะเกิดอะไรขึ้น ผมเห็นศรัทธามันลดลงไป ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล ล้วนมาจากภาคส่วนการเมือง เราทุกคนจะต้องมีทัศนคติ วิธีการทำงานแบบใหม่ ที่จะกู้ทุกอย่างให้กลับมาให้ได้ -1 ปี ที่เข้าสู่เส้นทางการเมือง ได้อะไรบ้าง ต้องขอย้อนกลับไปอาชีพที่ผมเคยทำ คือเป็นอาจารย์ ซึ่งจะอยู่กับทฤษฎี บทเรียน ข้อมูล หากถามว่าตัวเองได้ไปสัมผัสกับประชาชน หรือความเป็นอยู่จริงๆ มากน้อยขนาดไหน ถ้าเทียบกับช่วง 1 ปี ที่เข้ามาทำการเมือง ต้องเรียนตรงๆ ว่า เหมือนแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น กับความเข้าใจสังคม และคนไทย โอกาสที่ผมได้เรียนรู้สังคมไทย และรู้สึกว่าได้ทำงาน คือช่วงที่ได้ออกไปทำงานกับ ส.ส.จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ พี่สาวของผมเอง ซึ่งเป็นช่วงที่มีภาพที่ชัดเจนมากที่สังคมไทยให้ความหวั่นไหวมาก คือ ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นภาพที่คนแห่กลับบ้านในช่วงที่กรุงเทพฯ ถูกชัตดาวน์ ส.ส.จุฑาฑัตต ได้กระตุกผมว่า เราเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เราจะนั่งนิ่งไม่ได้ จะกลัวโควิดไม่ได้ เราต้องทำอะไรสักอย่าง เรา2 พี่น้องจึงได้จูงมือกันออกไป ด้วยความงง เพราะก็ยังไม่ทราบว่าจะช่วยใคร หรือทำอะไร แต่โชคดีที่บ้านเราให้ความช่วยเหลือคนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีมาก่อน จึงเป็นที่แรกที่เราคิดถึง พอเขาโทรมาหาเรา ก็ไม่ทราบว่าเขารู้หรือเปล่าว่าเราเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงเกิดโครงการเกิดขึ้นว่า เราจะลงไปทำงานที่อำเภอไทรโยค โดยเบื้องต้นไปให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ผู้ชรา ผู้สูงอายุ และขยายไปช่วยโรงพยาบาลท่ามะกา จนกระทั่งเจาะไปถึง รพ.สต. และ อสม. ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ทำให้เราได้ทราบบริบท อาสาสมัครเหล่านี้ที่พาเราเจอกับประชาชน เจอสังคม เจอทุกอย่าง ทำให้เราทราบถึงความทุกข์ และความรู้สึกข้างในของประชาชนจริงๆ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลง รักระหว่างอาจารย์ที่ม้วนตัวมาสู่การเป็นผู้แทนฯ -คุณพ่อ (ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์) ให้คำหรือแนะนำการทำงานทางการเมืองอะไรบ้าง คำแนะนำที่คุณพ่อให้ น่าจะเป็นประสบการณ์ชีวิตท่าน ซึ่งประสบการณ์ชีวิตท่านกับผม ไม่เหมือนกัน คุณพ่อเป็นนักวิชาการที่มีอายุด้านวิชาการมากว่า 20 ปี จึงกระโดดเข้ามาเส้นทางทางการเมือง ฉะนั้นคุณพ่อจึงมีภาพนักวิชาการเป็นส่วนมาก แต่ผมเป็นนักวิชาการที่มีประสบการณ์แค่ 3 ปี ที่เหลือเรียนมาตลอดชีวิต และกระโดดเข้ามาเส้นทางทางการเมือง กรอบความคิดของผม คุณพ่อสอนอยู่อย่างหนึ่ง คิดว่าสามารถปฏิบัติได้จริง เป็นคำพูดที่ผมคิดว่า ง่ายและทำได้จริง “เราจะต้องเน้นปฏิบัติมากกว่าเชิงทฤษฎี” สิ่งที่มีปัญหาในสังคมเรา จะเสนออะไรก็ตาม แต่ไม่มีใครบอกเลยว่า ปฏิบัติทำอย่างไร คนนักเสนอ นักคิดมีมาก แต่คนปฏิบัติมีน้อยมาก เราจะเปลี่ยนตัวเองอย่างไร ที่เป็นได้ทั้งนักคิด นักปฏิบัติไปพร้อมกัน นี่แหละคือสิ่งที่สังคม และประเทศชาติต้องการในการขับเคลื่อน คือ สิ่งที่คุณพ่อสอนผม นอกจากนี้ สิ่งที่สอนผมอีกคนคือ ส.ส.จุฑาฑัตต เพราะอยู่บนเส้นทางทางการเมืองมา 10 กว่าปี เป็นคนที่สอนผม และบอกผมมาตลอดว่าควรจะทำอย่างไร -พรรคมีการเปลี่ยนแปลง กก.บห.ชุดใหม่ จากนี้จะมีการปรับบทบาททางการเมืองอย่างไร ที่ผ่านมา เราถูกมองว่า เป็นพรรคที่อยู่อีกฝั่งของหัวก้าวหน้า ซึ่งผมก็เรียนหลายรอบแล้วว่า ไม่ใช่ จริงๆ แล้วเป็นการวาดภาพของสื่อ หรืออะไรก็ตาม ที่ทำให้เราไปอยู่ฟากนั้น ตามจริงในพรรคมีคนที่มีความคิดสมัยใหม่ มีความคิดรุ่นใหม่ แปลกใหม่ พอที่จะนำเทคโนโลยี หรือดิจิทัล เข้ามาผนวกกับการทำงานของภาคส่วนราชการ โดยล่าสุด บทบาทการเมืองของพรรค ที่พรรคต้องการจะทำ ผมก็ได้รับฟังแนวทางมาจากคณะกรรมการบริหารพรรค องค์ประชุม และส.ส.ของพรรค เราต้องการที่จะผลักดันให้เกิดดิจิทัลเศรษฐกิจ (Economy) จริงๆ ขึ้นมาได้ ทั้งนี้ ช่วงวิกฤติโควิด เป็นช่วงที่ในวิกฤติเป็นโอกาส เช่น คุณแม่ ก็ไม่เคยใช้แอพพลิเคชั่นชอปปี้ เพราะท่านชอบไปสัมผัส หรือซื้อสินค้าที่ร้าน แต่ด้วยความที่มีโควิดเกิดขึ้น ท่านก็ถูกบังคับต้องให้ซื้อของที่ชอปปี้ อันนี้ คือ Digital Literacy เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้น เราจึงต้องทำให้เกิด Digital Citizens ขึ้นมาให้ได้ เพราะมีโอกาสขึ้นมาได้ พรรคเองก็มีแนวคิดจะทำงานร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สร้างให้เกิด แก้ให้หน่อยต้องเป็น Digital Citizens -พรรคเล็กๆ ของเราจะช่วยขับเคลื่อนพัฒนาประเทศอย่างไร พรรคเล็ก พรรคใหญ่ไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าพรรคเล็กใจใหญ่ก็ไปได้ ซึ่งบางพรรคอาจจะมี ส.ส. 70 ท่าน แต่ทำงานจริงๆ อาจจะทำงานเพียงแค่ 12 ท่านก็ได้ แต่พรรคเรามี ส.ส. 5 ท่าน และมีทีมงาน ผู้ช่วย ที่มีตัวตน และทำงานทุกวัน ผมเองเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ถ้าผมต้องการอยู่สบายไปวันๆ ผมก็เข้านั่งประชุมกรรมาธิการ 4-5 คณะ และรับเบี้ยประชุม ซึ่งคิดว่างานตรงนั้นไม่ใช่งานหลักที่สำคัญจริงๆ เราจึงได้ออกไปตามจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน รับฟังความเดือดร้อน และนำเรื่องเหล่านี้ ส่งไปยังกระทรวงบ้าง หรือนำเข้าสู่สภาฯ -มองการเมืองในยุค New Normal ควรเป็นอย่างไร การเมือง ต้องมีการปรับอย่างรุนแรง เพราะการเมืองที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้ประชาชนชอบ และสนุก กลายเป็นเรื่องของการตอบโต้กันอย่างสาดเสียเทเสีย หรือการใส่ไฟ การเสี้ยม ถามว่าสนุกไหม เป็นสิ่งที่สนุก พูดถึงเป็นละคร แต่ถ้าท่านไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นจริง ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวแก่ประชาชน และประชาชนเข้าใจผิด ผลที่เสียเกิดกับประเทศ ไม่ได้เกิดเพียงแค่สภาผู้แทนราษฎร และผลที่ตามนั้น ผลที่เสียคือภาษีของประชาชน ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาการเมืองเข้าไปอีก สภาผู้แทนราษฎรจึงต้องปรับวิธีการทำงาน นำเสนอความจริง อาจจะเป็นมุมต่าง แต่เรามาถกกัน แต่ต้องเป็นความจริงที่ไม่เน้นโจมตี เป็นความจริงที่ถกได้บนพื้นฐานความเข้าใจ เพื่อจูนเข้าหากันได้ ดี ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ภาคการเมือง แต่เกี่ยวเนื่องกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคสื่อมวลชน ภาคประชาชน ต้องใจเย็น เราพร้อมที่จะมองหาเหยื่ออยู่ตลอดเวลา ทุกคนกำลังเครียด และเจ็บช้ำกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาในช่วงโควิด ฉะนั้น การดำเนินชีวิตในวิธี New Normal และทัศนะคติในวิธี New Normal อยากให้พวกเราทุกคนชะลอกันสักนิด ชะลอการตัดสิน การหาบาป หาแพะ หรือหาเหยื่อ ถอยหลังมาสักพักให้ความจริงปรากฏออกมาก่อน ค่อยมานั่งคิด อย่าเพิ่งไปชี้นิ้วว่าใครผิด -นักการเมืองรุ่นเก่า กับรุ่นใหม่ จะทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาประเทศได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับนิยามคำว่า นักการเมืองรุ่นเก่า กับรุ่นใหม่ บางท่านอาจจะทำงานการเมืองมานาน แต่ก็ทันการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งตอนนี้ก็คลิกเข้ามาอยู่กับนักการเมืองรุ่นใหม่ กรอบความคิดก็ทันต่อบริบทของประเทศ บริบทของโลก ฉะนั้นจึงไม่ทราบว่า จะมีวิธีคลิกอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ว่าเราจะเป็นใคร หรือมาจากไหนก็ตาม เราต้องรับฟังกันมากขึ้น -มองการปรับครม. ที่จะกำลังจะเกิดขึ้นอย่างไร มองว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเราเชื่อมั่น และมีความมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นผู้นำประเทศที่ท่านจะเลือกพิจารณาบรรดารัฐมนตรีทั้งหลาย ให้เหมาะสมกับบทบาทที่ประเทศกำลังต้องก้าวไปในวันข้างหน้าให้ดีที่สุด ฉะนั้นผมจึงเชื่อว่า การปรับครม. ครั้งนี้ ท่านนายกฯ จะตัดสินใจบนพื้นฐานของความเหมาะสมของตัวครม. รัฐมนตรีแต่ละท่าน และบนพื้นฐานความพร้อมของแต่ละคน แต่ละพรรคที่ได้เตรียมการมาเพื่อสานต่อ เพราะเราจะสะดุดไม่ได้ อีกทั้งกระทรวงใดก็ตามที่เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ และกระทรวงที่สำคัญ เช่น คนกำลังจะว่างงาน กระทรวงแรงงาน จึงจำเป็นที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการปรับ ครม. ครั้งนี้ ถ้าปรับแล้วเกิดผลกระทบต่อประเทศ ทำให้ประเทศไม่เกิดการพัฒนา หรือเดินหน้าไม่ต่อเนื่อง เครื่องชะงัก มองว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว -ถ้าโควตาของพรรคยังนั่งเก้าอี้รมว.แรงงานอยู่ จะขับเคลื่อนงานต่ออย่างไร พรรคได้เตรียมบทบาทการทำงานของกระทรวงแรงงาน เป็นแผนแม่บทไว้แล้ว เช่น โครงการการจ้างงาน โครงการสร้างแรงงานเป็น Digital Distysen พร้อมกับมีการเตรียมร่างพ.ร.บ. 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ผู้ใช้แรงงานนอกระบบ ที่จะช่วยเหลือ และดูแลผู้ใช้แรงงานนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ และร่างพ.ร.บ.ธนาคารประกันสังคม เรานั่งคิดกันตลอดว่า ภายใน 35 ปี กองทุนประกันสังคมจะหมด แต่ไม่เคยมีใครคิดว่า ทำอย่างไรให้มีอายุได้มากว่า 35 ปี -อยากฝากอะไรถึงนักการเมือง และภาคประชาชน ในการร่วมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ ความคิดเห็นที่แสดงออก อยากให้เราทุกคนช่วยแสดงออกในความคิดเห็น หรือการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสิ่งที่วิจารณ์และสามารถนำไปปรับปรุง รวมทั้งปฏิบัติได้จริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงการวิจารณ์เพื่อความสะใจ แล้วก็จบ แต่ความคิดเห็นที่ท่านแสดงออกมานั้น จะนำไปปฏิบัติได้อย่างไร หรือนำไปใช้ได้อย่างไร จะขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง