กรมการแพทย์ โดยรพ.เลิดสิน ชี้โรคมะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคม่าเป็นโรคมะเร็งของกระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่พบบ่อยในเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี แต่มีความชุกที่สุดในผู้ป่วยช่วงอายุ 10-20 ปี นอกจากนี้ ยังเป็นมะเร็งกระดูกในเด็กที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสองรองจาก Osteosarcoma โรคมะเร็งอีวิงซาโคม่านี้ หากผู้ป่วยได้เริ่มการรักษาโดยยังไม่มีการลุกลามไปที่อื่น จะมีอัตราการรอดชีวิตใน 5 ปี ที่ประมาน 50-60 % แต่จะลดลงเหลือเพียง 25-30 % หากมีการลุกลาม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคมะเร็งอีวิงซาร์โคม่า (Ewing Sarcoma) จะพบบ่อยในกระดูกระยางค์ทั้งแขนและขา แต่ช่วงต้นขาและรอบเข่าจะพบบ่อยที่สุด แต่ในบางครั้ง อาจจะพบในตำแหน่งกระดูกส่วนแกนกลางร่างกาย เช่น กระดูกเชิงกราน กระดูกเบนเหน็บ หรือกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตรวจพบยากกว่า เนื่องจากลึกกว่า จึงมักปรากฏอาการช้าโดยอาการที่พบ เมื่อตัวโรคกำเนิดที่กระดูกระยางค์ ได้แก่ ปวด บวม คลำได้ก้อน บางครั้งอาจจะพบอาการที่คล้ายการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลียน้ำหนักลด เป็นต้น เนื่องจากเซลต้นกำเนิดของโรคเป็นเซลล์ที่คล้ายกับเซลล์ของกลุ่มโรคที่มีการอักเสบและติดเชื้อ ขณะที่อาการที่พบในผู้ป่วยที่มีรอยโรคในกระดูกแกนกลางลำตัว จะมีอาการปวดบริเวณรอยโรคหรือปวดร้าวไปบริเวณอื่น เนื่องจากมีการกดทับหรือเบียดเส้นประสาท ส่วนการคลำก้อนจะทำได้ยากกว่าก้อนที่อยู่บริเวณระยางค์ นอกเสียจากก้อนมีขนาดใหญ่มากๆ จนนูนบวมออกมา นพ.ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผอ.โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคมะเร็งอีวิงซาร์โคม่าที่ได้รับการวินิจฉัยและเริ่มต้นการรักษาอย่างรวดเร็วมักจะได้รับผลการรักษาที่ดี โดยการรักษาประกอบด้วย ให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัดและการฉายรังสีรักษาร่วมกัน การให้เคมีบำบัดจะให้ทั้งก่อนและหลังผ่าตัด เพื่อลดขนาดก้อนและลดอัตราแพร่กระจายของโรค เพื่อให้การผ่าตัดนำก้อนออกให้เกลี้ยงแบบเป็นวงกว้างสามารถทำได้ง่ายขึ้น ส่วนการฉายรังสีรักษาจะนิยมใช้ในกรณีที่ไม่สามารถนำก้อนออกแบบเป็นวงกว้างได้ทั้งหมด หรือผ่าตัดแล้วพบว่า นำก้อนออกไม่หมดซึ่งมักจะเป็นตำแหน่งที่ผ่าตัดได้ยาก เช่น กระดูกเชิงกราน กระดูกเบนเหน็บ หรือกระดูกสันหลัง เป็นต้น ซึ่งการฉายแสงจะช่วยลดขนาดและลดอัตรากลับมาเป็นซ้ำของตัวโรคนี้ได้ในระดับหนึ่ง