ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 ประทับช้าง จ.ราชบุรี เปิดพื้นที่ขยายเพิ่มย้ายหมี เสือโคร่ง เข้ากรงใหม่ช่วยลดความแออัด ลดอาการเครียด อนาคตเตรียมเปิดเป็นแหล่งศึกษา เวลา 14.00 น. ( 22 ก.ค. 63 ) นายนิพนธ์ จำนงศิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) จ.ราชบุรี นายประทีป เหิมพยัคฆ์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า นายพจน์ ทับประทุม หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 ประทับช้าง นายวินันท์ วิระนะ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอจอมบึง ร่วมตรวจเยี่ยมและเปิดกรงบ้านใหม่ให้ลูกหมีหมาและลูกหมีควาย รวม 3 ตัว ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง ) ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี โดยลูกหมีหมา มีชื่อว่า เจ้าบ้านคา ซึ่งได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้าด้านหน้าข้างขวา และได้พลัดหลงจากแม่จากเหตุไฟป่าที่บริเวณเขตอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อ.บ้านคา จ.ราชบุรี เมื่อวันที 12 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนเจ้ากันเอง เป็นหมีควายที่หนีไฟป่ามาจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก และยังมีเจ้าภูกระดึง หมีควายที่หนีไฟป่ามาจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย ทั้ง 3 ตัว เป็นหมีหมาและหมีควายเพศเมียทั้งหมด อายุประมาณ 6 เดือน เจ้าหน้าที่ได้นำมาเลี้ยงดูแลให้กินนม ผลไม้ และฝึกให้กินน้ำผึ้งเพื่อเป็นอาหารสร้างความคุ้นเคยการใช้ชีวิตอยู่ในป่าธรรมชาติ และด้วยสภาพพื้นที่อยู่อาศัยของหมีหมาและหมีควายรวม 3 ตัว ค่อนข้างคับแคบ จึงได้ทำการปรับปรุงขยายพื้นที่กรงอาศัยให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม อยู่ใต้ต้นไม้ มีสระน้ำเล็ก ๆ มีล้อยางรถยนต์ และอุปกรณ์เล่นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความร่าเริง สนุกสนาน ได้วิ่งเล่นรอบกรงผ่อนคลายอาการเครียด และยังมีผลไม้นานาชนิดจากผู้ใจบุญบริจาคมาให้กินด้วย จากนั้นได้ร่วมดึงเชือกเปิดกรงเสือโคร่งแห่งใหม่ โดยมีเสือโคร่งชื่อ เจ้า B อายุประมาณ 8 ปี ค่อย ๆ เดินเข้ามาในกรงอย่างระมัดระวัง มีการสำรวจพื้นที่รอบกรงเพื่อสร้างความเคยชิน ซึ่งศูนย์ฯ ได้ดำเนินการสร้างใหม่เป็นแห่งแรก หวังที่จะช่วยลดปัญหาภาวะเครียดให้เสือที่อยู่ในความดูแลรวมจำนวน 38 ตัว ให้มีความเป็นอยู่และสุขภาพดี นายพจน์ ทับประทุม หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) กล่าวว่า เดิมทีหมีหมาและหมีควายจะอาศัยในกรงค่อนข้างเล็ก ขณะที่หมีหมาและหมีควายเริ่มเจริญเติบโตขึ้นทุกวัน อีกทั้งกรงเริ่มไม่มีความปลอดภัยเพราะมีขนาดโตขึ้น ความแข็งแรงก็เพิ่มขึ้น เลยจำเป็นต้องย้ายมาอยู่กรงใหม่มีสภาพที่กว้างกว่าเหมาะสำหรับได้ออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรง โดยได้นำมาจาก อ.บ้านคา จ.ราชบุรี 1 ตัว จ.พิษณุโลก 1 ตัว และ จ.เลย 1 ตัว สำหรับการปล่อยคืนถิ่นนั้นได้พูดคุยกับผู้บังคับบัญชาแล้ว อนาคตจะเอาทั้ง 3 ตัวกลับคืนพื้นที่ป่าที่เคยอยู่เดิม แต่จะต้องนำไปฝึกฝนใช้ชีวิตอยู่ในป่าก่อน ถ้าสามารถกลับคืนสู่ป่าได้ก็จะนำกลับคืนสู่ป่าโดยธรรมชาติ ส่วนการปล่อยเสือให้อยู่ในกรงใหม่นั้น ในศูนย์ฯ ดูแลเสือทั้งหมดจำนวน 38 ตัว เป็นเสือของหลวงตามหาบัว และอีกส่วนหนึ่งเป็นของกลางที่ได้จากการตรวจยึดมาเลี้ยงดูแล เดิมกรงเสือจะมีขนาดกว้าง 4 x 8 เมตร ทำให้การออกกำลังกายไม่สามารถเดินออกกำลังกายได้ หลังเข้ามารับตำแหน่งใหม่จึงปรับปรุงสถานที่ให้กว้างขึ้น เพื่อให้มีที่เดินออกกำลังกาย ช่วยเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยให้อยู่คล้ายธรรมชาติ ซึ่งหากอยู่ในสภาพพื้นที่แบบเดิมจะมีลักษณะความเครียด จึงได้เพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำ มีที่ไต่ขึ้นต้นไม้ได้ ส่วนเสือตัวนี้ชื่อ เจ้า B มาจากสวนสัตว์ จ.อุบลราชธานี เป็นเสือที่มอบกลับคืนให้กับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชดูแล อนาคตจะสร้างพื้นที่ยาดเพิ่มเติมอีกให้เสือทุกตัวได้เข้าไปอาศัย มีพื้นที่ประมาณ 10 x 20 เมตร 2 กรงต่อ 1 ยาด โดยการสร้างยาด 1 จุด จะให้เสือได้อาศัยอยู่สลับกันวันละ 1 ตัว หากเป็นเสือตัวเมียก็จะปล่อยเข้ายาดได้ทั้ง 2 ตัว แต่หากเป็นตัวผู้ ตัวเมีย จะปล่อยรวมกันไม่ได้เพราะจะเกิดการผสมพันธุ์กัน อนาคตเมื่อทำพื้นที่นี้ให้สะอาด ปลอดภัยเกิดความมั่นคงแล้ว อาจจะเปิดให้คนที่สนใจเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับด้านสัตว์ป่า ลักษณะกลุ่มนักศึกษา หรือกลุ่มที่สนใจด้านสัตว์ป่าเข้ามาศึกษาหาความรู้ แต่จะไม่ใช่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนพื้นที่อื่น ๆ ทั่วไป