กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนทางภาคเหนือที่ยังมีปริมาณน้ำกักเก็บค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเขื่อนแม่กวงอุดมธาราที่มีปริมาณน้ำอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งจากรายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนโดยกรมชลประทาน ระบุว่า ปัจจุบันระดับน้ำกักเก็บในเขื่อนแม่กวง อุดมธารายังมีปริมาณน้อยกว่า 20% วันนี้ (8 มิ.ย.60) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการประชุมวิเคราะห์การปฏิบัติการฝนหลวงและแนวโน้มสถานการณ์น้ำประจำวัน และการประสานข้อมูลกับสำนักชลประทานที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์และความต้องการน้ำในพื้นที่ทางภาคเหนือ พบว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนทางภาคเหนือหลายแห่ง ยังมีปริมาณน้ำกักเก็บค่อนข้างน้อย และมีความต้องการให้เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อน จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ ร่วมกันปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนทางภาคเหนือ โดยเน้นการปฏิบัติการในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา สำหรับการดูแลพื้นที่การเกษตรบางส่วนที่มีพื้นที่อยู่ใกล้หน่วยปฏิบัติการใดให้พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินงาน เช่น พื้นที่การเกษตรบางส่วนในจังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือรับผิดชอบ แต่เนื่องจากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดตาก มีภารกิจเติมน้ำในเขื่อนอยู่ทางภาคเหนือและอยู่ไกลจากพื้นที่ จึงต้องประสานให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดลพบุรี ช่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและครอบคลุมภารกิจทั้งการเติมน้ำในเขื่อนและดูแลพื้นที่การเกษตร โดยผลการปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา มีการขึ้นบินปฏิบัติการจำนวน 8 เที่ยวบิน จำนวนชั่วโมงบิน 8:35 ชั่วโมง ใช้สารฝนหลวงจำนวน 8.2 ตัน พบว่ามีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ในบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล 11.52 ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแม่กวงอุดมธารา 0.12 ล้านลูกบาศก์เมตร อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ในการขึ้นบินเพื่อปฏิบัติภารกิจต่างๆ ทุกครั้ง ให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกแห่งระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติการในพื้นที่น้ำหลาก น้ำท่วมขัง และพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางเกษตรที่ไม่ต้องการน้ำ ทั้งจากการระบายน้ำจากเขื่อนและการปฏิบัติการฝนหลวง สำหรับประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องได้ที่ เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร