เมื่อวันที่ 22 ก.ค.63 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสุนนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทาง และประสบการณ์ดำเนินงานสถานกักกันโรคสู่พื้นที่จังหวัดเป้าหมายสำคัญในการเดินหน้าประเทศไทย ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนดา แกรนด์ จังหวัดนนทบุรี นพ.ธเรศกล่าวว่า ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงมีให้พบเห็นอย่างต่อเนื่องในหลายภูมิภาคของโลก แม้ว่าหลายประเทศจะสามารถควบคุมโรคได้ในระดับหนึ่ง แต่พบว่ามีการแพร่ระบาดซ้ำในระลอกที่ 2 เกิดขึ้นอีก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่มีมาตรการควบคุม เฝ้าระวัง และมีระบบกักกันโรคที่ได้รับการยอมรับในสากล ก็ยังมีความเสี่ยงการระบาดระลอกใหม่ เมื่อรัฐมีการผ่อนคลายกิจการต่างๆ โดยเฉพาะการผ่อนปรนระยะที่ 6 ซึ่งจะอนุญาตให้กลุ่มบุคคลบางประเภทเดินทางเข้ามาในประเทศ จะต้องตระเตรียมมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่เหมาะสม ซึ่งการจัดตั้งสถานกักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) สถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine) ในระดับรัฐ และการจัดตั้งสถานกักกันโรคท้องที่ (Local Quarantine) เพื่อใช้กักกัน แยกกัน เฝ้าระวังอาการของโรคโควิด-19 กับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันนั้น เป็นหนึ่งในแนวทางที่ประจักษ์ชัดว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกัน ควบคุมโรคเป็นอย่างดี นพ.ธเรศกล่าวว่า เพื่อให้มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในภาพของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดที่มีความสำคัญ กรม สบส.จะต้องเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางดำเนินงานในสถานที่กักกันโรค ตามมาตรฐานสู่พื้นที่จังหวัดเป้าหมายการเดินทางและเป็นประตูเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งนี้ วันนี้ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1-12 กระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการโรงแรมที่ใช้เป็นสถานกักกันโรคทางเลือก ฯลฯ มาร่วมรับฟังแนวทางดำเนินงานและการจัดตั้งสถานกักกันโรคตามเกณฑ์ที่ก.สาธารณสุขกำหนด ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินการสถานกักกันโรคในระดับท้องที่ และสถานกักกันโรคท้องที่ทางเลือก (Alternative Local Quarantine) ในจังหวัดเป้าหมายที่มีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ ท่าอากาศยาน ด่านชายแดนระหว่างประเทศ เมืองท่องเที่ยวหลัก และเป็นเป้าหมายการเดินทางและเป็นประตูเข้าสู่ประเทศไทย ทั้ง 44 จังหวัด เป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม บนมาตรฐานเดียวกันตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยพื้นที่จังหวัดเป้าหมายทั้ง 44 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 10 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ภาคใต้ 10 จังหวัด และภาคกลาง 3 จังหวัด