ยะลา จัดแถลงผลการดำเนินงานมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 ผ่านกิจกรรม “70 วันยะลาปลอดโควิด ชีวิตปลอดภัย” วันนี้ (20 ก.ค.63) เวลา 10.00 น. ที่สนามโรงพิธีช้างเผือก เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง .จ. ยะลา จังหวัดยะลาได้จัดให้มีกิจกรรม แถลงผลการดำเนินงานมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ผ่านกิจกรรม “70 วันยะลาปลอดโควิด ชีวิตปลอดภัย” โดยภายในงานได้จัดให้มีการจัดนิทรรศการ ผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหา สถานการณ์โควิดในพื้นที่จังหวัดยะลาในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการจัดนิทรรศการรูปแบบมีชีวิต ที่สื่อให้เห็นถึงแนวทางการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิดการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด – 19 ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา เทศบาลนครยะลา ตำรวจภูธรจังหวัดยะลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ที่ทำการปกครองส่วนจังหวัดยะลา นิทรรศการการพัฒนาคุณภาพชีวิตในยุค New Normal จากสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา สำนักงานประมงจังหวัดยะลา สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยะลา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา และนิทรรศการภาพในอนาคตจังหวัดยะลาในยุค New Normal จากสำนักงานการท่องเที่ยวจังหวัดยะลา และ อำเภอทุกอำเภอในจังหวัดยะลา นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น "การระบาดใหญ่" หรือ pandemic หลังจากเชื้อลุกลามไปอย่างรวดเร็วในทุกภูมิภาคของโลก จนเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 โดยจังหวัดยะลาพบผู้ป่วยรายแรก เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นชาวจังหวัดยะลาเดินทางกลับจากการชุมนุมทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย รวมผู้ป่วยที่พบในจังหวัดยะลา มีจำนวน 133 ราย มีจำนวนผู้เสียชีวิต 2 ราย และผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากไปทำพิธีทางศาสนา และมาจากประเทศมาเลเซีย โดยอำเภอบันนังสตา พบผู้ป่วยมากที่สุดถึง 83 ราย รองลงมาเป็นอำเภอเมืองยะลา จำนวน 33 ราย “ โดยรวมของจังหวัดมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ ได้ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และข้อกำหนดภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยไม่แพร่กระจายและสามารถรับมือได้ ทั้งการรณรงค์อยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ การแจกจ่ายหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เจลล้างมือ การเว้นระยะห่างทางสังคม การปิดสถานบริการหรือสถานประกอบการ โดยจังหวัดจัดตั้งจุดตรวจควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ วันที่ 27 มีนาคม 2563 ในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดจำนวน 12 จุด และจุดตรวจรองของอำเภอเพื่อปฏิบัติงานเพิ่มเติม จำนวน 18 จุด รวม 30จุด โดยบูรณาการกำลังพลจากตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น ชุดเคลื่อนที่เร็วของจังหวัด มีจำนวน 2 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 คือชุดรับบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง เพื่อนำบุคลคลเข้าสถานที่ตรวจดูอาการ ชุดที่ 2 ชุดบังคับใช้กฎหมาย ชุดเคลื่อนที่เร็วของอำเภอ อำเภอละ 1 ชุด รวม 8 ชุด จัดตั้งทีมผู้ช่วยเหลือในการตรวจคัดกรองประชาชน ของกรรมการชุมชนในเขตชุมชนที่รับผิดชอบ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ คือ การคัดกรองที่เข้มงวดและทั่วถึง โดยใช้พลัง อสม. ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยควบคุมเพิ่มเติม และได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการด้านต่างๆ องค์กรทางศาสนา มูลนิธิ รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และโซเชียล ช่วยทำให้ไม่เกิดความสับสนในการรับรู้ข้อมูล