ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมาย สศก. ขยายผลโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดิน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำต้นแบบ จ.ศรีสะเกษ ขยายผลทั่วประเทศ สืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ร่วมสร้างอาชีพเกษตร ช่วยผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ก้าวสู่ Smart Farmer ยุคดิจิทัล ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า เดือนกรกฎาคมเป็นเดือนมหามงคลของปวงชนชาวไทย ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. นำโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ขับเคลื่อนโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดิน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจการเกษตรอาสาประจำศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยอบรมและสาธิตการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการบริหารจัดการสินค้าเกษตรผลผลิตทางการเกษตร ผ่านเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) พร้อมบูรณาการขับเคลื่อนผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์ปฏิบัติการอื่นๆ กลุ่มองค์กรภาคประชาชน ในการช่วยเหลือแรงงานคืนถิ่นให้สามารถทำการเกษตรเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ โดยขณะนี้ได้มีพิธีเปิดโครงการดังกล่าว ณ ศพก. อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่ง สศก. ได้นำต้นแบบของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นโมเดลในการขยายผลโครงการฯ ไปทั่วประเทศ ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 - 12 ได้จัดอบรมไปแล้วมากกว่า 300 ราย และจะดำเนินการอบรมไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 เป้าหมายกว่า 1,000 ราย และจากที่คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบโครงการระยะที่ 1 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19 กรอบวงเงิน 92,400 ล้านบาท สศก. เตรียมบูรณาการและเชื่อมโยงขยายผลร่วมกับโครงการต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาคีในระดับพื้นที่ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมปศุสัตว์ ภายใต้โครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่” โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ 4,009 ตำบล จำนวน 64,144 ราย รวมพื้นที่ 192,432 ไร่ และโครงการ “พัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service)” ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการในศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน 394 ศูนย์/อำเภอ ใน 63 จังหวัด ตลอดจนมีแผนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวง อาทิ โครงการสร้างงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตลอดจนแรงงานจังหวัด พัฒนาชุมชนจังหวัด การศึกษานอกระบบ (กศน.) หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีโครงการในลักษณะเดียวกันมาใช้ ศพก. และ ศกอ. เป็นกลไกในการขับเคลื่อน “เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเต็มที่ สศก. ได้จัดทำคู่มือการฝึกอบรมให้เป็นมาตรฐาน เพื่อติดตามประเมินผล จากการถอดบทเรียนของศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน ศกอ. ที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย 9 ฐานเรียนรู้ที่เข้มข้น และยังมุ่งเน้นองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีเพื่อให้ก้าวทันยุคดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชั่น ฟาร์ม D และแอปพลิเคชั่นกระดานเศรษฐี (RCMO) รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก BIG Data ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) โดยผู้เข้าอบรมจะต้องทำความเข้าใจพร้อมถอดรหัสบทเรียนที่ได้ ไปออกแบบแปลงให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ตนเองและประยุกต์ใช้ได้จริง” เลขาธิการ สศก. กล่าว