หนึ่งในโรคประจำถิ่นของไทย “ไข้เลือดออก” ยิ่งช่วงนี้ที่ฝนตกแทบทุกวัน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงป่วยไข้ นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ด้วยสภาพอากาศค่อนข้างร้อนชื้นประเทศไทย จะเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเดงกี บวกกับมีฝนตกและมีความเสี่ยงสูงขึ้นทำให้เกิดแหล่งน้ำขังได้ในหลายพื้นที่ ทำให้ลูกน้ำยุงลายมีปริมาณมาก และเจริญเติบโตได้ดี โอกาสที่จะแพร่ระบาดก็เพิ่มมากขึ้น กลุ่มอายุที่พบเป็นโรคดังกล่าวมากคือ กลุ่มเด็กอายุระหว่าง 10-14 ปี ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงเมื่อป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า การป้องกันโรคไข้เลือดออกสามารถทำได้ 3 ขั้นตอน เปรียบเสมือนเป็นการสร้างเกราะภูมิคุ้มกันถึง 3 ชั้น โดยเกราะคุ้มกันชั้นที่ 1 การป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทายากันยุง ติดมุ้งลวด นอนในมุ้ง เกราะคุ้มกันชั้นที่ 2 คือ การช่วยกันกำจัดทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย ปิดฝาอุปกรณ์เก็บกักน้ำ เช่น โอ่ง ไม่ให้ยุงลายวางไข่ และเกราะคุ้มกันชั้นที่ 3 คือการไปพบแพทย์เมื่อป่วยเป็นไข้ ควรติดตามอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เกราะคุ้มกันเสริมแนะนำให้ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี ที่เคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้วเท่านั้น