DITP ระบุตลาดตุรกี สินค้าวัตถุดิบของไทยมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งเครื่องจักร เครื่องจักรไฟฟ้า อัญมณี พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และยางพารา หลังตุรกีต้องการนำไปใช้ผลิตเพื่อส่งออก ระบุไทยยังใช้ตุรกีเป็นฐานเจาะกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและเป็นฐานการค้า การลงทุนเจาะเอเชียและยุโรป นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ปัจจุบันตุรกีเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อกระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้ตุรกีมีความต้องการนำเข้าสินค้าหมวดวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต โดยจากสถิติการนำเข้าสินค้าของตุรกีพบว่า มีการนำเข้าเครื่องจักร เครื่องจักรไฟฟ้า อัญมณี พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และยางพารา เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต จึงถือเป็นโอกาสของสินค้าในหมวดดังกล่าวของไทยที่สามารถนำเข้ามาสู่ภาคการผลิตของตุรกีได้ ทั้งนี้จากการตรวจสอบสถิติการค้า พบว่า ในช่วงปี 2560–2562 ตุรกีมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ เครื่องจักร ยางพารา เครื่องจักรไฟฟ้า อัญมณี ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง โพลีเมอร์ เส้นใยและเส้นใยประดิษฐ์ ซึ่งมากกว่าร้อยละ 70 ของสินค้าที่นำเข้าจากไทยเป็นสินค้าหมวดวัตถุดิบ เพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกของตุรกี โดยด้านการส่งออกพบว่า ในช่วงปี 2560-2562 ตุรกีมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด มีมูลค่าการส่งออกรวม 157,115 ล้านเหรียญสหรัฐ 167,876 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 180,795 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องจักรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งตลาดส่งออกหลักของตุรกีคือ เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับอามิเรสต์ อิรัก สหรัฐฯ อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล และอิหร่าน และในช่วง 5 เดือนปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) มีการส่งออก 61,554 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 19.74 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการปิดพรมแดน ระงับเที่ยวบิน และหยุดการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ คาดว่าหลังตุรกีคลายล็อกดาวน์ และกลับมาผลิตจะทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบเพิ่มขึ้น นายพูลศักดิ์ คุณอุดม ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี กล่าวว่า ขณะนี้ตุรกีให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการขนส่ง มีนโยบายพัฒนาโครงการ Peace Highway ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างตุรกี บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาและเซอร์เบีย เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน เช่น การเกษตร การผลิต โรงแรม ท่องเที่ยว และพลังงาน จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะใช้เส้นทางดังกล่าวขยายการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศมาชิกยุโรปตะวันออก นอกจากนี้ ตุรกียังมีเขตากรค้าเสรี 7 แห่งที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าวัตถุดิบบางชนิดได้ในอัตราภาษีที่ต่ำลงหรือไม่เสียภาษี และปัจจุบันมีการลงทุนจากสหภาพยุโรปเป็นจำนวนมาก แต่ไทยยังเข้าไปลงทุนน้อย จึงยังมีโอกาส และตุรกียังเกี่ยวเนื่องกับโครงการ Belt and Road Initiative ของจีน ทำให้ตุรกีเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง 3 ภูมิภาค และเป็นเส้นทางโลจิสติกส์สำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม ที่สำคัญ ควรจะเตรียมความพร้อมจากการทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่หากบรรลุผลจะเป็นกลไกทำให้การค้า การลงทุนระหว่างไทย-ตุรกีเพิ่มขึ้น สำหรับสาธารณรัฐตุรกี มีที่ตั้ง ณ ทางแพร่งของยุโรปและเอเชีย ทำให้ตุรกีมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างยิ่ง โดยมีพื้นที่ส่วนน้อยตั้งในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ คือ นครอิสตันบูล ประเทศตุรกีมีพรมแดนติดต่อกับ 8 ประเทศได้แก่ ประเทศซีเรียและอิรัก (ทางใต้) ประเทศอิหร่าน อาร์มีเนียและดินแดนส่วนแยกนาคีชีวันของอาเซอร์ไบจาน (ตะวันออก) ประเทศจอร์เจีย (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ประเทศบัลแกเรีย (ตะวันตกเฉียงเหนือ) และประเทศกรีซ (ตะวันตก) ล้อมรอบด้วยทะเลดำอยู่ทางเหนือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางใต้ และทะเลอีเจียนทางตะวันตก ช่องแคบบอสฟอรัส ทะเลมาร์มะราและดาร์ดะเนลส์ (รวมกันเป็นช่องแคบตุรกี) จึงถือว่ามีภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศที่เหมาะสมต่อการค้าและการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง สามารถถือเป็นประตูการค้าสู่ประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปและเอเชีย