"ธนาธร" อัด กกต. ล้มเหลวในการวางตัวเป็นกลาง - ชี้ปท. อยู่ในยุควิกฤติศรัทธาองค์กรอิสระ เปรียบความวิปลาส-สองมาตรฐานเป็นอาการของเชื้อโรคสืบทอดอำนาจ ปลุกทุกฝ่ายหาฉันทามติ- เสนอ 4 กรอบข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 18 ก.ค.63 ที่ห้องวิวัฒนไชย ไทยซัมมิททาวเวอร์ เวทีแสวงหาฉันทามติใหม่ให้กับประเทศไทย "New Consensus Thailand" จัดเสวนาใหนหัวข้อ "กกต. ไทย อย่างไรต่อดี?" นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราเห็นความผิดปกติในการดำเนินการของ กตต. เต็มไปหมด ตนอยากยก 2 ตัวอย่าง คือ 1. การนับคะแนนใหม่ เขต 1 จ.นครปฐม ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ ร้อง กกต. โดยเกิดขึ้นประมาณ 1 เดือนให้หลังการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งผลจากการนับใหม่นั้นคือ มีบัตรเสียเพิ่มขึ้น 164 ใบ บัตรดีลด 142 ใบ และบัตรประสงค์ไม่ลงคะแนนลดลง 4 ใบ จำนวนบัตรทั้งเขตเพิ่มขึ้น 25 ใบ เป็นไปได้อย่างไรที่บัตรลงคะแนนซึ่งตั้งไว้เฉยๆ 1 เดือน ที่ควรจะเท่ากันกับการนับคะแนนครั้งก่อน แต่ปรากฏว่าจำนวนบัตรเปลี่ยนไป แบบนี้ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ และ กกต.ก็ไม่เคยตอบคำถามนี้ ตัวอย่างที่ 2. คือ ภาพรวมการทำงานของ กกต. เช่นการประกาศผล ในยุคสมัยใหม่ไม่มีประเทศไหนใช้เวลาเป็นเดือนอีกแล้วในการนับคะแนนและประกาศผลอย่างเป็นทางการ การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีการประกาศถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกคือ 28 มี.ค. เป็นการประกาศคะแนน ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นวันที่ 7 พ.ค. เป็นการประกาศ ส.ส.แบบแบ่งเขต และครั้งที่ 3 เกิดขึ้น 8 พ.ค. ประกาศ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งใช้เวลาถึง 45 วัน ขณะที่มาตรฐานทั่วโลกนั้นอยู่ที่ 24 ชั่วโมง สำหรับประเทศสมัยใหม่ไม่มีที่ไหนใช้เวลาเป็นเดือนอีกแล้วในการประกาศผล "หน้าที่ของ กกต.คือ การเป็น Gatekeeper หรือ ตัวกั้น โดยเป็นทั้งผู้บริหาร เป็นทั้งผู้ออกกฎการเลือกตั้ง และชี้ขาดในการเลือกตั้ง มีทั้ง 3 อำนาจในองค์กรเดี่ยว ที่คนทั่วไปตรวจสอบคัดค้านอะไรไม่ได้เลย และกระบวนการนำไปสู่การถอดถอน กกต. ก็ยากเย็นแทบเป็นไปไม่ได้ กกต.ชุดปัจจุบันมาจาก สนช. ซึ่ง คสช. เลือกมาอีกที ด้วยสถานะที่ กกต. เลือกข้างทางการเมือง ไม่ยึดโยงกับประชาชน จึงนำมาสู่การเลือกตั้งที่เป็นข้อกังขามากมาย ไม่มีองค์กรรัฐองค์กรไหนที่มีประชาชนล่ารายชื่อถอดถอนเกือบ 1 ล้านคน เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นี่คือวิกฤตศรัทธากับองค์กรอิสระที่จำเป็นต้องวางตัวเป็นกลาง เพราะตัวเองเป็น Gate Keeper ว่าใครจะเป็นผู้ได้ใช้อำนาจประชาชน แต่ที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา กลับล้มเหลวในการดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ล้มเหลวในการดำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง" นายธนาธร กล่าว นายธนาธร กล่าวอีกว่า ความวิปลาสที่เราพูดถึงหลายๆ กรณีวันนี้ ทั้งหมดเป็นอาการ ไม่ใช่เป็นโรค และตัวต้นตอที่ให้เกิดอาการแบบนี้คือ ความพยายามสืบทอดอำนาจ ของ คสช. ที่ว่า 20 ปี นั้นไม่ใช่เรื่องล้อเล่น จึงเกิดรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นของอภิสิทธิ์ชน ที่ยืนยันว่าพวกเขาจะสืบทอดอำนาจต่อไปได้แม้ว่ามีการเลือกตั้งแล้ว รัฐธรรนูญฉบับนี้เขียนขึ้นมาเพื่อให้พวกเขาครองอำนาจ ไม่ให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงแย่งชิงอำนาจมาได้ ทั้งอำนาจบริหารก็มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติคอยควบคุม ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเอาผิดได้ อำนาจนิติบัญญัติก็ชัดเจนว่า ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งจะคอยปกป้องผลประโยชน์ให้ เพราะเขา กลัว ส.ส.จะผ่านกฎหมายที่ไปทำลายผลประโยชน์อภิสิทธิ์ชน จึงต้องมี ส.ว.แต่งตั้งกลั่นกรองอีกที และ ส.ว.ชุดนี้ยังร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย รวมถึงอำนาจตุลาการ เรากำลังพูดถึงองค์กรอิสระที่มีผลต่อการเมืองไทยอย่างมาก เช่น กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. ซึ่งก็มาจากการแต่งตั้งทั้งนั้น "รัฐธรรนูญ 2560 ที่เขาวางไว้ ทำให้เสียงประชาชนไม่มีความหมาย รัฐบาลถูกคุมไว้ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ, ส.ส. ถูกคุมไว้ด้วย ส.ว., เรื่องการตัดสินทางการเมืองอยู่ในมือ กกต. , ปปช. , ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าความวิปลาสหรือความสองมาตรฐานนี้คืออาการ ตัวเชื้อโรคคือความพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. และสิ่งที่บ่มเพราะเชื้อโรคนั่นคือใจกลางของปัญหาที่ว่า อำนาจในประเทศนี้เป็นของใคร เป็นของอภิสิทธิ์ชนคนกลุ่มน้อยหรือเป็นของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน นี่คือใจกลางของปัญหา อำนาจในประเทศนี้เป็นของใคร ถ้าเราไม่หาคำตอบร่วมกัน และเป็นคำตอบที่ทุกฝ่ายยอมรับ เห็นตรงกัน มีการแบ่งอำนาจกันอย่างสมดุล ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้" นายธนาธร กล่าว นายธนาธร กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญวันนี้เราต้องการข้อตกลงร่วมกันจากทุกฝ่าย เพราะที่ประเทศไทยเดินมาถึงจุดนี้ เรามีส่วนร่วมทั้งนั้น และจะออกจากจุดนี้ได้ต้องนั่งคุยกัน ยอมรับว่าสังคมไทยมีปัญหาไปต่อไม่ได้ เราต้องการกฎระเบียบที่ทุกฝ่ายยอมรับด้วยกัน ซึ่งตนอยากเสนอกรอบคร่าวๆ คือ 1. สังคมที่เป็นประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน 2. ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพระราชฐานะอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง 3.มีระบบรัฐสภาที่แสดงออกซึ่งเจตจำนงประชาชนอย่างแท้จริง มีรัฐบาลมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ 4 มีนิติรัฐ นิติธรรม สิทธิประชาชนได้รับการประกัน และทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย