ปชป.กระเพื่อมจ่อเปลี่ยนตัว รมต.จับตา “จิตภัสร์”มาแรง คุมสื่อโซเชี่ยลพรรค "ส.ส.ปชป." ผนึกกำลังหวังพลิกเกมยึดอำนาจ กก.บห.พรรค เลือกคนนั่ง รมต.พรรคเอง ประชุมใหญ่ 19 ก.ค. ส่อเดือด วันที่ 17 ก.ค.63 มีรายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังจากกลุ่ม 4 กุมาร ได้ลาออกจากรัฐมนตรีเพื่อเปิดทางให้นายกฯได้ปรับครม. ส่งแรงกระเพื่อมถึงพรรคร่วมรัฐบาล ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในสภาฯทันที ซึ่งก่อนหน้านี้ในที่ประชุมส.ส.พรรคได้มีการวิจารณ์การทำงาน และผลงานรัฐมนตรีของพรรคที่ไม่ค่อยมีผลงานปรากฎ หรือการทำงานที่ไม่เอื้อต่อส.ส. ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 อาทิ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาฯ ที่ถูกส.ส.พรรคระบุว่า ผลงานและข่าวสารที่ออกสู่สังคมค่อนข้างน้อยเช่นเดียวกับนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช. สาธารณสุข ถูกตำหนิว่าช่วงโควิดแพร่ระบาดไม่ได้ช่วยส.ส.ในพื้นที่เรื่องหน้ากากและแอลกอฮอล์เจลเลย จึงตกเป็นเป้าที่ถูกจับตามองว่า หากอาจมีการเปลี่ยนแปลงบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีในส่วนนี้ แหล่งข่าวระดับสูง ระบุว่า ให้จับตาบุคคลที่โดดเด่นในช่วงหลังการสัมมนาพรรคที่เกาะเสม็ด จ.ระยองคือ น.สจิตภัสร์ กฤษดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งได้รับให้เป็นรักษาการณ์เหรัญญิกพรรค ซึ่งนานเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯในฐานะเลขาธิการพรรคได้มอบหมายให้เข้ามาปรับปรุงเรื่องสื่อโซเชียลมีเดียของทั้งหมด รวมถึงการจัดทำแบรนเนอร์เผยแพร่ผลงานของรัฐมนตรีและส.ส.ของพรรคให้ทันสมัยและนอกกรอบ เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล ที่สามารถเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ฐานเสียงกว้างและเพิ่มมากขึ้นในยุคดิจิดัล โดยส.ส.ของพรรคได้วิจารณ์ในการสัมมนาที่จ.ระยองว่า สื่อโซเชียลของพรรครูปแบบล้าหลัง ไม่ดึงดูด การกระจายไม่แพร่หลาย ส่งวนเวียนกันเองในกลุ่มไลน์เฉพาะส.ส.และคนของพรรค ไม่ออกสู่สังคมวงกว้าง หน้าเว็บไซด์พรรค และเพจเฟซบุ๊กไม่มีการอัพเดทข้อมูลให้ทันสถานการณ์ จึงต้องเปลี่ยนให้น.ส.จิตภัสร์มาทำแทน พร้อมเปลี่ยนโลโก้พรรคเฉพาะในสื่อโซเชี่ยล มีเพียงรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม ไม่มีกรอบวงกลม รวงข้าวและคำขวัญประจำพรรค”สัจจฺเว อมตะวาจา “กลุ่มส.ส.52 คนของพรรคต่างกันฟ้องว่า ส.ส. ควรจะมีส่วนร่วมในการพิจารณาคนที่จะขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีของพรรค แทนที่จะต้องรับความเห็นชอบจากการพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร(กก.บห.)พรรค เรากดดันผู้บริหารพรรคในการสัมมนาที่จ.ระยองค่อนข้างหนัก โดยให้เหตุผลว่า คนที่ทำงานใกล้ชิดกับรัฐมนตรีก็คือ ส.ส.มากกว่า กก.บห. เนื่องจาก กก.บห.พรรคส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นส.ส. และคนที่จะโหวตรับรองในเรื่องต่างๆในสภาฯให้รัฐมนตรีก็คือส.ส. เพราะทุกเรื่องที่รัฐมนตรีของพรรคทำ ต้องรับได้รับการสนับสนุนจากส.ส.ทั้งในสภาฯและนอกสภาฯ ดังนั้น ส.ส.จึงมีบทบาทมากกว่า กก.บห. ถ้ารัฐมนตรีไม่เข้าใจการทำงาน ของส.ส.ในพื้นที่และในสภาฯก็จะเปิดปัญหาในพรรคเช่นปัจจุบัน คือทำงานในกระทรวงมากกว่าใส่ใจงานของพรรค เพราะ ส.ส.เป็นผู้รับนโยบายของพรรคมาดำเนินการทั้งในพื้นที่และในสภาฯ ส.ส.พรรคส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องว่า ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลขึ้นเป็นรัฐมนตรีต้องผ่านที่ประชุมส.ส.พรรคมากกว่าผ่านการพิจารณาของกก.บห.พรรค เช่นที่ผ่านมา ที่สำคัญคือ ก่อนร่วมรัฐบาล พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา เคยท้วงติงในที่ประชุมร่วมว่า ส.ส.ต้องสามารถประเมินผลงานของรัฐมนตรีได้ และที่จ.ระยอง นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ก็ย้ำเรื่องนี้ โดยเสนอให้ผู้บริหารพรรคทำโพลใน3 ประเด็นใหญ่คือ 1. สถานะของพรรค และความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่เขตเลือกตั้ง ภูมิภาคต่างๆ 2. ความนิยมในตัวส.ส.ของพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้ง 3. ความนิยมในตัวรัฐมนตรีของพรรคทั้ง 7คน หรือผลงานว่าเป็นรัฐมนตรีที่ Popular หรือเป็นรัฐมนตรีที่โลกลืม ซึ่งเลขาฯพรรคก็รับปากจะประเมินผลงานโดยการทำโพลใน1 เดือน แต่คงไม่ทันกับการปรับ ครม.ครั้งนี้ เพราะเกิดการปรับจากพรรคหลัก จึงกระเพื่อมถึงพรรคเรา แต่หากจะทำ ก็สามารถทำได้ทันที คือให้ส.ส.พรรคทั้ง 52 คน ประเมินผลงาน 7 รัฐมนตรีพรรค ที่ทำได้เลย สำหรับบุคคลที่เป็นแคนดิเดท ที่จะถูกพิจารณาหากมีการปรับตัวบุคคลในพรรคคือ นายกนก วงศ์ตระหง่า นายไชยยศ จิระเมธากร นายอัศวิน วิภูศิริ นายวิรัช ร่มเย็น นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู และน.ส.จิตภัสร์ กฤษดากร ซึ่งคนหลังสุดที่ได้รับแรงหนุนจากเลขาฯพรรค และกลุ่มส.ส.ยังเติร์ก และกลุ่มอดีตกปปส. จึงต้องจับตาดูว่าในการประชุมใหญ่สามัญพรรค19 ก.ค. จะมีอะไรเกิดขึ้น เพราะต้องแก้ไขข้อบังคับพรรค และจะเกิดเหตุซ้ำรอยพรรคพลังประชารัฐหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าว