SAM ระบุลูกหนี้แอ็นพีแอลโดดร่วมคลินิกแก้หนี้ตั้งแต่เปิดโครงการ-ปัจจุบันแตะ 6.2 พันราย สิ้นปีนี้ทะลุหมื่นราย มูลหนี้ 2 พันล้าน จับตาใกล้ชิด NPL ปีหน้าเพิ่มขึ้น พร้อมหั่นราคาเอ็นพีเอ 20-30% ระบายสต็อกรอบ 20 ปี นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิทจำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า โครงการคลินิกแก้หนี้ที่ดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และ SAM ได้ปรับเงื่อนไขใหม่ เพื่อขยายความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มากขึ้น โดยปรับเกณฑ์คุณสมบัติผู้สมัครเข้าโครงการ จากเดิมผู้สมัครต้องเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 มาเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และปรับเกณฑ์ห้ามก่อหนี้ใหม่ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยหากผู้เข้าร่วมโครงการสามารถผ่อนชำระเงินต้นได้อย่างน้อยร้อยละ 50 สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ โดยไม่ต้องรอจนครบ 5 ปี ทั้งนี้ลูกหนี้ที่เป็น NPL สามารถสมัครเข้าโครงการ หรือยื่นขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้โดยตรงกับผู้ให้บริการทางการเงิน ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนเช่นเดียวกับคลินิกแก้หนี้ ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการ 6,200 ราย มูลหนี้รวม 1,500 ล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นปีจะมีผู้ร่วมโครงการเกิน 1 หมื่นราย มูลหนี้ 2,000 ล้านบาท โดยมาจากการผ่อนผันเกณฑ์ของโครงการและจากผลกระทบของโควิด-19 สำหรับสัดส่วนของคนที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีรายได้ประจำร้อยละ 90 และอาชีพอิสระร้อยละ 10 มีหนี้ต่อรายประมาน 280,000 บาท “ได้ปรับลดราคาสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ)ลง20-30%เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วง 2เดือนข้างหน้าถือเป็นครั้งแรกในรอบ20ปีหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิดยอดขายลดลงคาดว่ายอดขายสิ้นปีอยู่ที่ 2,000ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 2,500ล้านบาท และปีนี้ซื้อหนี้เอ็นพีแอลมาบริหาร5,000กว่าล้านบาท” สำหรับเป้าหมายของโครงการคลินิกแก้หนี้ในเวลานี้ไม่ใช่จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ แต่คือการหาวิธีให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือได้รับความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้นและเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามแม้คนที่เป็นNPLอาจจะมีไม่มากในเวลานี้ แต่ยังต้องติดตามจำนวนของคนที่กำลังจะกลายเป็นNPLในปีหน้าที่คาดว่าจะมีมากขึ้น