นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สายงานพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่าจากกรณีที่เครือข่ายประชาชน 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี ได้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 นั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ขอชี้แจงและให้รายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้ 1.การจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ สกพอ. ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยหากต้องการท้วงติง ต้องดำเนินการภายใน 90 วัน หลังจากประกาศฯ ผังเมืองอีอีซี มีผลบังคับใช้ กระบวนการจัดทําแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ ดําเนินการโดยสกพอ. ร่วมกับกรมโยธาธิการ และผังเมือง ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการจัดทำผังเมืองของประเทศไทยที่ประกาศใช้อยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นไปตามหลักวิชาการของผังเมือง และนโยบายการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ทั้งนี้จากข้อกำหนดตามกฎหมาย คดีที่ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาได้นั้น นอกจากจะเป็นคดีปกครองแล้ว จะต้องยื่นคำฟ้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คือต้องยื่นฟ้อง ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศฯ ผังเมือง อีอีซี มีผลบังคับใช้ กล่าวคือ ต้องยื่นฟ้องภายในระหว่างวันที่ 10 ธันวาคม 2562 - 10 มีนาคม 63 ที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดเป็นสำคัญ 2.การจัดทำแผนผังอีอีซี สกพอ. ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ยืนยันรับฟังความเห็นคนในพื้นที่ รวม 40 ครั้ง สกพอ. ได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง รวมทั้งหน่วยงานกลางและหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดทำรายละเอียดแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ตามหลักวิชาการผังเมืองและนโยบายการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ของชุมชน สุขภาวะของประชาชน สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ประชาชน ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานในพื้นที่ สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน และรับฟังข้อเสนอแนะของประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาเสมอมา โดยมีกำหนดไว้ชัดเจนใน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 30 วรรคสาม ทั้งนี้ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมต่อการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 มีการจัดรวมไม่ต่ำกว่า 40 ครั้ง แบ่งเป็นเวทีที่เป็นทางการกว่า 25 ครั้ง และเวทีที่ไม่เป็นทางการกว่า 15 ครั้ง ประกอบด้วย ส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ องค์กรภาคเอกชน ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้นำชุมชน (เทศบาล อบต. ผู้ใหญ่บ้าน) สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 30 อำเภอ โดยได้นำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ มาปรับปรุงแก้ไขแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของพื้นที่โดยตรง 3.ไม่มีการปรับพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี มาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ได้มีการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรรมและพื้นที่โล่งเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น การจัดทำผังเมือง สกพอ. ดำเนินการตามหลักวิชาการผังเมือง โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์กับชุมชน สุขภาวะประชาชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน การจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ได้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ โดยรักษาพื้นที่ป่าไม้เท่าเดิม รักษาพื้นที่เกษตรเท่าเดิม โดยส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่รักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติถึง 78.76 % พื้นที่เมืองและชุมชน 13.23% และพื้นที่อุตสาหกรรมมีเพียง 5.12% และพื้นที่อื่น ๆ (เขตทหาร แหล่งน้ำ) 2.89% การปรับสีผังเมือง ไม่ได้ใช้พื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีมาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม มีการปรับลดพื้นที่ที่สภาพปัจจุบันไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตรแล้วเพียง 8.29% เพื่อเตรียมรองรับการใช้ประโยชน์สูงสุดในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยภาพรวมยังเป็นพื้นที่เดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยังจัดระบบให้มีประสิทธิภาพ โดยปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ 3 ประเภท ได้แก่ 1. กำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่โล่ง เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมโดยรอบอ่างเก็บน้ำ ริมแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อเป็นกันชนป้องกันการรุกล้ำแหล่งและรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นประมาณ 2.93% 2. กำหนดพื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน เป็นพื้นที่รองรับการเป็นชุมชนเมือง และศูนย์กลางพาณิชยกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 3.36% 3. กำหนดพื้นที่รอบอุตสาหกรรมเดิม ในลักษณะคลัสเตอร์เพื่อรองรับการพัฒนา เพิ่มขึ้น ประมาณ 1.99% 4. สกพอ. และ กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) ดำเนินการชี้แจงและทำความเข้าใจ แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ กับกลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออกเป็นการเฉพาะ มาโดยตลอด ดังนี้ 1.) ทำหนังสือชี้แจง ระหว่างเดือน ก.ค. 62 – 10 มี.ค. 63 สกพอ. ร่วมกับ ยผ. ได้มีหนังสือตอบชี้แจงประเด็นข้อร้องเรียนทั้งหมดมากกว่า 10 ครั้ง 2.) ผลการร่วมประชุมหารือเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 62 ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ดังนี้ (1) ผู้แทน สกพอ. และ ยผ. ได้ตอบประเด็นข้อร้องเรียน 8 ข้อเดิมอีกครั้งหนึ่ง (2) กลุ่มเครือข่ายฯ ได้ขอแก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพิ่มอีก 4 ข้อ ซึ่ง ผู้แทน ยผ. ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวครบทุกประเด็น (3) ผู้เข้าร่วมประชุมท่านอื่น มีความเห็นว่า หลักเกณฑ์การตั้งนิคมและโรงงานอุตสาหกรรม มีความเข้มงวดมากอยู่แล้ว มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องปฏิบัติหลายฉบับ และเมื่อพิจารณาแผนผัง EEC แล้ว เห็นว่ามีการดำเนินงานอย่างมีระบบ มีการกำหนด zoning ชัดเจน จึงเชิญกลุ่มเครือข่ายร่วมกำกับดูแลเฝ้าระวังการบังคับใช้แผนผัง EECจะดีกว่า นอกจากนี้ กำนันตำบลเขาดิน มีความเห็นว่า ปัจจุบันที่ดินเสื่อมโทรมลง การประมงไม่ได้ผลผลิตคุณภาพการมีอุตสาหกรรมในพื้นที่ จะสร้างรายได้และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และอุตสาหกรรมที่จะมาตั้งในพื้นที่ ก็เป็นอุตสาหกรรมสะอาดที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้ (4) กลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ยังคงมีความเห็นเดิมคือ ขอให้ทบทวนมติ กพอ. ที่ได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ อย่างไรก็ตาม วันที่ 30 ส.ค. 62 ได้มีกลุ่มชาวบ้านตำบลเขาดิน อำเภอปางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี มากกว่า 60 คน เดินทางมายื่นหนังสือนำเรียน นรม. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้เดินหน้าโครงการ EEC และขอให้เร่งรัดประกาศใช้แผนผัง EEC โดยเร็ว เนื่องจากเป็นความต้องการของคนในพื้นที่ที่แท้จริง โดยในการเรียกร้องให้เดินหน้าโครงการ EEC ครั้งนี้ ได้มีประชาชนในพื้นที่ร่วมลงชื่อจำนวนมากกว่า 500 คน