สองเยาวชนระยองถูกตร.อุ้ม หลังชูป้ายวิจารณ์ "บิ๊กตู่" เข้าร้องกมธ.กฎหมาย สภาฯ หาคนผิดมาลงโทษ ชี้ จนท.ทำเกินกว่าเหตุ ด้าน "โรม" เด้งรับ จ่อเรียกผู้เกี่ยวข้องชี้แจง ส่วน "ช่อ" กังวลเหตุที่เกิดขึ้นหนักกว่าทุกครั้ง วันที่ 16 ก.ค. เมื่อเวลา 13.10 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กาารยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกกมธ.ฯ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ในฐานะที่ปรึกษากมธ. รับหนังสือร้องเรียนจากนายภานุพงศ์ จาดนอก และนายณัฐชนน พยัฆพันธ์ แกนนำเยาวชนภาคตะวันออก ที่ชูป้ายเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาล ระหว่างการลงพื้นที่ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดย นายภาณุพงษ์ กล่าวว่า เราสองคนไปชูป้ายเพื่อตั้งคำถามกับพล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการเยียวยาคน จ.ระยอง และจะรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร โดยมีนักเรียน โรงเรียน ผู้ประกอบการห้างร้าน ที่พัก ในจ.ระยอง ต้องหยุดกิจการกะทันหัน ส่งผลให้เศรษฐกิจของจังหวัดที่กำลังจะดีขึ้นต้องหยุดชะงัก เพราะแขกวีไอพีของท่าน เราจึงไปแสดงการตั้งคำถามกับท่าน แต่พล.อ.ประยุทธ์ ยังเดินทางมาไม่ถึงเราก็ถูกตำรวจจับโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แม้เราพยายามถามว่าเราผิดอะไร แต่ตำรวจก็อุ้มพวกเราออกไปขึ้นรถพร้อมบอกว่า "เดี๋ยวมีข้อหาให้เอง" ซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ จึงได้เดินทางไปที่ สภ.ระยอง เพื่อแจ้งความให้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการกับพวกเรา ซึ่งไม่รู้เลยว่าคดีจะมีความคืบหน้าอย่างไร เราไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับประชาชนอีก จึงต้องมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อกมธ.ฯให้นำคนผิดมาลงโทษเพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง ด้าน นายรังสิมันต์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน (15 ก.ค.) สร้างความกังวลให้กมธ. เนื่องจากเราเชื่อว่าเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เราเชื่อว่าประชาชนสามารถตั้งคำถามกับรัฐบาลได้ แต่เราในฐานะกมธ.ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงจะรับเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของคณะกมธ.ฯ เพื่อพูดคุยว่าจะเชิญใครเข้ามาชี้แจงบ้าง และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพื่อที่จะนำผลการศึกษาเรื่องนี้รายงานต่อสภาฯ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นประชาชนนับล้านคนได้ติดแฮชแท็กแสดงความไม่พอใจเจ้าหน้าที่ ซึ่งกมธ.กังวลว่ากรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ เพียงเพราะประชาชนแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ และพูดในสิ่งที่รัฐไม่อยากได้ยิน โดยเฉพาะเมื่อมีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ก็ใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (15 ก.ค.) หนักหน่วงกว่าทุกครั้ง เพราะมีการล็อกคอลากคนขึ้นรถที่ไม่ใช่พาหนะของทางราชการ อีกทั้งผู้กระทำก็เป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ ในฐานะกมธ.เรากังวล และจำเป็นต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง นอกจากนี้ เราเคยถามไปยังเจ้าหน้าที่หลายครั้งแล้วถึงมาตรการระงับเหตุ กรณีชุมนุมว่าเหตุใดจึงมีการใช้อำนาจรัฐกับคนที่เห็นต่างจากรัฐบาล ซึ่งแตกต่างจากคนที่ชื่นชมรัฐบาล