ท่ามกลางสถานการณ์ที่ชาวโลก ตื่นตระหนกตกใจกลัวกับโควิดฯ ที่ยังคงแผลงฤทธิ์พ่นพิษ ปลิดชีวิตชาวโลกเราไปแล้วเกือบ 6 แสนคน ติดเชื้อล้มป่วยอีกจำนวนร่วม 13 ล้านคน แต่ทว่า บรรดาองค์การระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับด้านอาหารโลก ออกมาเตือนว่า ความหิวโหยจากการไม่มีอาหารรับประทาน เป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า เข้าทำนอง พระพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา – ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง” ทั้งนี้ ก็เป็นผลพวงที่ส่งกระทบมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานทางอาหาร ตลอดจนความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติเราด้วย นั่นเอง เริ่มจากการประเมินของ “โครงการอาหารโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอฟพี” (WFP : World Food Programme) หน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ได้ออกมาประมาณการผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ต่อประชากรโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร และความทนทุกข์ทรมานเพราะความโหยหิวจากการอดอาหารว่า ในปี 2019 (พ.ศ. 2562) ประชากรโลกจำนว821 ล้านคน เผชิญหน้ากับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ในจำนวนนี้ 149 ล้านคน ต้องทนทุกข์ทรมานจากสภาพวิกฤติความหิวโหย ส่วนในปีนี้ คือ 2020 (พ.ศ. 2563) เมื่อถึงช่วงสิ้นปีจำนวนผู้ทนทุกข์ทรมานจากสภาพวิกฤติความหิวโหยจะเพิ่มขึ้นเป็น 270 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 80 จากช่วงปีก่อน ซึ่งความเดือดร้อนข้างต้นก็เป็นผลกระทบที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจัยหนึ่ง นอกเหนือจากปัจจัยอื่นๆ แล้ว ขณะที่ การประเมินของ “ออกซ์แฟม (Oxfam)” หน่วยงานที่รวมตัวจากองค์กรอิสระ 20 แห่ง ที่ก่อตั้งในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา ออกมาเปิดเผยจากการศึกษาประเมินสถานการณ์ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารที่ประชากรโลกจะต้องผจญในท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ว่า สิ้นปี 2020 นี้ โลกอาจได้เห็นประชากรของตนต้องเสียชีวิตเพราะความอดอยากถึงวันละ 12,000 คน โดยความอดอยากที่ว่า ก็มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิดฯ ที่แพร่ระบาดไปในประเทศทั่วโลก พร้อมกันนี้ ออกซ์แฟมยังได้หยิบยกสถิติความสูญเสียจากไวรัสโควิดฯ ทั่วโลก ซึ่งจัดทำโดย “มหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อปกินส์” ในประเทศสหรัฐฯ มาเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตเพราะความอดอยากด้วยว่า ในแต่ละวันก็จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิดฯ ราว 4 – 5 พันราย โดยสถิติสูงสุดที่ “มหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อปกินส์” เก็บรวบรวมมาได้ก็เป็นวันที่ 17 เม.ย. ที่มีผู้ป่วยเชื้อไวรัสโควิดฯ เสียชีวิตมากที่สุดภายในวันเดียวจำนวน 8,890 ราย แต่ถึงกระนั้นก็ยังน้อยกว่าผู้เสียชีวิตจากความอดอยาก ตามจำนวนที่กล่าวแล้วข้างต้น คือ 12,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ ทาง “ออกซ์แฟม” ระบุว่า ปัจจัยจากไวรัสโควิดฯ ก็จะไปผสมโรงกับปัจจัยอื่นๆ จนทำให้กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร อาทิ ผลกระทบจากความขัดแย้ง การสงคราม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน รวมไปถึงระบบการผลิตอาหารที่ด้อยคุณภาพหรือถูกทำลายลง อย่างไรก็ดี มาถึง ณ ในปีนี้ ทาง “ออกซ์แฟม” ได้มุ่งเน้นมองไปที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในฐานะที่สร้างผลกระทบต่อระบบการขับเคลื่อนทางอาหารอย่างใหญ่หลวงของมนุษยชาติเรา โดย “ออกซ์แฟม” ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ จนกระทบต่อรายได้ ทำให้รายได้แต่ละครัวเรือนลดลง หรือหลายรายถึงขั้นต้องอยู่ในสภาพ “ตกงาน” ก็มีผลทำให้ภาวะความอดอยากเลวร้ายยิ่งขึ้น เช่นเดียกับ การดำเนินมาตรการปิดพื้นที่ หรือล็อกดาวน์ ในหลายพื้นที่ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่กำลังถูกไวรัสโควิดฯ เล่นงาน ก็ส่งผลกระทบต่อแรงานภาคการเกษตร ไม่สามารถทำหน้าที่ผลิตอาหารได้อย่างเต็มที่ เพราะการเดินทางได้รับการจำกัดอย่างเข้มงวด รวมถึงการเดินทางเพื่อไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น การส่งมอบอาหารในพื้นที่ ก็ปฏิบัติงานได้ยากขึ้นจากมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมกันนี้ ทางออกซ์แฟม ยังเปิดเผยถึงบรรดาของประเทศ 10 แห่ง หรือกลุ่มโซนประเทศ ที่โลกต้องให้ความสนใจและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือยิ่งกว่าประเทศใดๆ ได้แก่ เยเมน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อัฟกานิสถาน เวเนซุเอลา กลุ่มโซนประเทศแอฟริกาตะวันตก เอธิโอเปีย ซูดาน ซูดานใต้ ซีเรีย และเฮติ นอกจากนี้ ก็ยังมีบราซิล อินเดีย แอฟริกาใต้ หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ได้ชื่อว่า พัฒนาแล้ว แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะพบความอดอยากของประชากร จากการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิดฯ ที่กำลังระบาดหนัก จนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอาหาร และการเกษตร ไม่นับที่มีจำนวนตกงาน ว่างงานอย่ามหาศาล ทั้งนี้ ตามการประเมินของออกซ์แฟมระบุว่า อย่างในสหรัฐฯ อาจมีประชากรเผชิญกับภาวะไร้ความมั่นคงทางอาหารถึง 17 ล้านคนเลยทีเดียว ก่อนที่ทางออกซ์แฟม เสนอแนะทิ้งท้ายว่า ต้องถึงมือบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้านอาหาร และเครื่องดื่ม ให้มาช่วยแก้ไข เตรียมการสำหรับรับมือกับความอดอยากอย่างรุนแรงที่กำลังจะมีขึ้นนับจากนี้