ขอนแก่น เร่งส่งรถบรรทุกน้ำเข้าไปแจกจ่ายในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ผู้ว่าฯ ระบุ แม้เขื่อนอุบลรัตน์ระดับน้ำเก็บกักจะน้อยที่สุดในรอบ 53 ปี แต่การบริหารจัดการน้ำโดยรวมเพียงพอไปจนถึง ส.ค. มั่นใจพายุฝน 2 ลูกที่จะเข้ามาเติมปริมาณน้ำทั้งจังหวัดได้ในระดับที่น่าพอใจ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 13 ก.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขต จ.ขอนแก่น รวมทั้งทหาร และฝ่ายปกครอง ยังคงนำน้ำเข้าไปแจกจ่ายให้กับพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ตามการร้องขอขอรับการสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคเพื่อบริโภค ตามแผนการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของจังหวัด หลังพบว่ายังคงมีบางหมู่บ้านร้องขอรับการสนับสนุนน้ำประปา เข้าไปเติมในระบบน้ำของหมู่บ้านรวมทั้งแจกจ่ายในบ้านเรือนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในระยะนี้ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้น้ำในระบบเก็บกักของเขื่อนอุบลรัตน์ อยู่ในระดับที่ร้อยละ 12.97 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 53 ปี ตั้งแต่มีการตั้งเขื่อนอุบลรัตน์มา แต่ถึงอย่างไรจังหวัดยังคงต้องดูในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และทั้งจังหวัด ซึ่งขณะนี้ที่ลำน้ำพอง ซึ่งอยู่ตอนล่างของเขื่อนอุบลรัตน์ และเชื่อมต่อไปยังฝายระบายน้ำของ จ.มหาสารคาม ปกติแล้วในช่วงเวลาเดียวกันนี้เขื่อนอุบลรัตน์ จะต้องระบายน้ำให้กับ จ.มหาสารคาม แต่จากการตรวจวัดระดับน้ำของเขื่อนแลฝายระบายน้ำที่ จ.มหาสารคามนั้นพบว่ามีระดับน้ำเก็บกักอยู่ที่ร้อยละ 102 ทำให้การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ขอนแก่นไปยัง จ.มหาสารคาม ในระยะนี้ยังระบายไม่มากซึ่งแบ่งเบาปริมาณน้ำของขอนแก่นได้มาก ดังนั้นการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ในระดับที่วันละ 300,000 ลบ.ม.นั้นจะเติมเน้นหนักไปในเรื่องของการอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะระบบประปา และรักษาระบบนิเวศน์อยู่ในระยะนี้ “ ขณะที่ทางตอนใต้ของจังหวัด หลังจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝน พบว่าทางตอนใต้ของจังหวัดในหลายอำเภอนั้นมีฝนตกลงมาอย่างประปราย แต่ก็ยังคงมีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ระบบ ทั้งที่แก่งละว้า, หนองละเลิงหวาย รวมทั้งเขื่อนระบายน้ำที่ อ.ชนบท ซึ่งจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้จะทำให้การบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่เฉพาะน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภคนั้นมีเพียงพอไปจนถึงปลายเดือน ส.ค.แต่ก็ยังคงมีพื้นที่บางส่วนที่อยู่บนที่ดอน อาจจะได้รับผลกระทบบาง ซึ่งจังหวัดได้เตรียมการในการส่งน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ว ขณะที่การขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่เป้าหมาย นั้นขณะนี้การดำเนินงานนั้นเสร็จสิ้นแล้วและเริ่มทดลองระบบการส่งจ่ายน้ำแล้ว สำหรับพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และได้มีการ้องขอเข้ามา การจัดระบบการแจกจ่ายน้ำร่วมของหน่วยงานท้องถิ่น,จังหวัด,ทหาร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีการนำน้ำไปแจกจ่ายในพื้นที่ตามตารางเวลาที่กำหนดทุกวัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในระยะนี้อย่างเข้มงวด” ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า สำหรับด้านทิศตะวันตกของจังหวัดยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหามาก โดยเฉพาะที่ อ.ชุมแพ ,สีชมพู และ อ.ภูผาม่าน แต่เมื่อช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกลงมาในพื้นที่และปริมาณน้ำจำนวนมาก ไหลเข้าสู่พื้นที่แก้มลิงที่จังหวัดได้จัดทำรองรับไว้ รวมกว่า 400,000 ลบ.ม. ประกอบกับน้ำในแม่น้ำชี ที่มีอยู่อีกกว่า 500,000 ลบ.ม. ทำให้ขณะนี้พื้นที่อำเภอทางทิศตะวันตกของจังหวัดมีน้ำต้นทุนรวมอยู่ที่ 900,000 ลบ.ม. ซึ่งแผนการบริหารจัดการน้ำจะทำให้น้ำที่มีอยู่นี้นั้นจะเพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือน ส.ค. เช่นกัน “อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 14 แห่งของจังหวัดที่กระจายอยู่ทั้ง26 อำเภอ มีปริมาณน้ำอยู่รวมร้อยละ 27 อย่างไรก็ดีในเดือน ส.ค.ต่อเนื่องถึง ก.ย. มีการคาดการณ์ว่าจะมีพายุพาดผ่านพื้นที่ ประมาณ 2 ลูก ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์ก็จะส่งให้ลำน้ำต่างๆ รวมทั้งพื้นที่รับน้ำทั้งจังหวัด ที่เวลานี้ดินมีความชุ่มน้ำ ทำให้จากนี้ไปเมื่อมีฝนตกก็จะทำให้น้ำนั้นสะสมตัวได้ในพื้นที่รับน้ำทุกแห่ง อย่างไรก็ตามสำหรับแม่น้ำชี เขตพื้นที่ อ.หนองเรือ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่ไหลเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์นั้น ขณะนี้น้ำยังไม่เต็มความจุ ทำให้น้ำในจุดนี้ยังไม่ไหลลงความจุอ่างของเขื่อนอุบลรัตน์ ทำให้ขณะนี้จังหวัดยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำที่เขื่อนอุบลรัตน์ เพราะขณะนี้มีระดับน้ำในความจุอ่างเพียง 315 ล้าน ลบ.ม. จากความจุที่สามารถรองรับน้ำได้ที่ 2.431 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นการที่ขอนแก่นจะมีฝนตกอย่างหนักจากพายุฝนในเดือน ส.ค. และ ก.ย.จะเติมน้ำลงในความจุอ่างให้ได้ในจำนวนที่มากที่สุด”