กลุ่ม ปตท.ตั้งทีม Quantum พัฒนาพลังร่วมปิโตรเคมีขั้นปลาย ไออาร์พีซีจับมือธุรกิจก๊าซฯ จัดทำโซลูชั่นโพรวายเดอร์ ลูกค้าอุตสาหกรรมก๊าซ ส่วนการพัฒนาพื้นที่จะนะ อยู่ที่ภาครัฐจะตัดสินใจ นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC หนึ่งในธุรกิจปิโตรเคมีเครือ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.ได้จัดตั้งทีม Quantum ขึ้นมาศึกษาแนวทางการทำงานร่วมกัน(synergy) ในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย (Downstream) โดยมีนายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.เป็นหัวหน้าทีมฯซึ่งจะมาดูภาพรวม Synergy ทั้งด้านกลยุทธ์ (Strategy) การดำเนินการ (Operation) และการจัดการ(Organization) ให้บรรลุเป้าหมาย ลดการทำงาน การลงทุนที่ซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพร่วมกัน ลดต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ในส่วนของ IRPC ที่เลื่อนโครงการ Maximum Aromatics Project (MARS) ออกไปไม่มีกำหนด ซึ่งแผนเดิมจะเพิ่มกำลังการผลิตพาราไซลีน 1.1-1.3 ล้านตันต่อปี ทำให้เหลือแนฟทา (naphtha) ส่วนเกินที่ส่งออกประมาณ 500,000 ตันต่อปี ก็ต้องไปดูว่าจะสามารถไปต่อยอดความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท.อย่างไร เช่น ร่วมมือกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่มีแผนจะจัดทำโครงการ Beyond CFP เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทยังหารือกับทีมขายก๊าซฯ ปตท.เพื่อป้อนให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมจัดทำโซลูชั่นโพรวายเดอร์ในการนำเสนอขายลูกค้าอย่างไร ขณะเดียวกันล่าสุดบริษัทได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)กับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด และบริษัทไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด เพื่อเพิ่มช่องทางในการขยายตลาด โดยศึกษาพัฒนาเชื่อมต่อระบบขนส่งน้ำมันทางท่อจากโรงกลั่นน้ำมัน IRPC ไปสู่ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อของ Thappline เพื่อร่วมกันสร้างช่องทางขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมัน High Speed Diesel ตามมาตรฐาน Euro V และน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Jet A1) โดยที่บริษัทไม่ได้เป็นผู้ลงทุนเอง แต่จะเป็นการจ้างค่าบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมาร์จิ้นให้กับบริษัท หรือคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อปี โดยจะเป็นการรองรับโครงการ ปรับปรุงโครงการตามมาตรฐานยูโร 5 ที่จะเสร็จภายในปี 2566 ทำให้บริษัทมีช่องทางจำหน่ายน้ำมันในประเทศและรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพราะผลิตดีเซลกำมะถันต่ำทดแทนการผลิตดีเซลกำมะถันสูง ซึ่งมีสัดส่วน 50% ของกำลังผลิตและต้องส่งออกเป็นหลัก “ความร่วมมือในกลุ่ม ปตท.จะเป็นโซลูชั่นโพรวายเดอร์ว่าลูกค้าต้องการอะไร เราร่วมคิดและพัฒนาสินค้าด้วยกันเช่น กรณีหากลูกค้าสนใจติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ ไออาร์พีซี มีเม็ดพลาสติกชนิด HDPE สำหรับจัดทำทุ่นลอยน้ำ เพื่อรองรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ซึ่งมีพื้นที่สระกักเก็บน้ำจำนวนมาก พร้อมที่จะรองรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เพื่อผลิตไฟฟ้าได้” โดยปัจจุบันโครงการโซลาร์ลอยน้ำในสระเก็บน้ำของ IRPC จ.ระยอง ที่มีอยู่ 5 บ่อ และดำเนินการติดตั้งไป 3 บ่อ กำลังการผลิต 12.5 เมกะวัตต์ มีขนาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท และเปิดดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นโครงการศึกษาประสิทธิภาพการติดตั้งแผงโซลาร์ฯบนทุ่นลอยน้ำที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกชนิด HDPE ของบริษัท ด้วยเป็นเม็ดพลาสติกสีเทาที่พบว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับเม็ดสีดำประมาณ 5-6% มีอายุการใช้งาน 25 ปี ซึ่งมั่นใจว่า จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งตลาดในประเทศที่มีอยู่ประมาณ 3 รายได้ โดยขณะนี้มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศหลายรายมาติดต่อเพื่อนำไปผลิต สำหรับที่ดินของบริษัทนั้น ปัจจุบันยังมีที่ดินรวม 12,000 ไร่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเป็นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ประมาณกว่า 2,000 ไร่ ซึ่งยังพิจารณาโครงการส่งเสริมการลงทุนต่างๆของภาครัฐที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวเช่น โครงการพัฒนาพลังงานสะอาด แต่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล และอีกประมาณ 9,000 ไร่ อยู่ใน จ.ระยอง ซึ่งพื้นที่ไหนที่มีศักยภาพที่จะจัดตั้งการลงทุนบริษัทจะเข้าไปพัฒนาร่วมกับลูกค้า และพื้นที่ไหนไม่มีศักยภาพจะพิจารณาขาย โดยพื้นที่ในระยองเป็นพื้นที่เขตประกอบการอุตฯ ไออาร์พีซี ต.เชิงเนิน ประมาณ 6,000 ไร่ ในส่วนนี้มีพื้นที่เหลืออีก 1,000 ไร่สำหรับรองรับขยายการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)