นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการ ที่ปรึกษาด้านแนวทางการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวานนี้ (10 ก.ค.) เอกชนมีความเป็นห่วงในเรื่องของสถานการณ์การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน หรือยังไม่นิ่ง มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนโดยเฉพาะการลาออกของ 4 รมต.จากพรรคพลังประชารัฐ ที่แม้จะยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่ได้อยู่ในพรรคแล้ว อาจทำให้ข้าราชการเกียร์ว่างได้ ทั้งนี้สภาหอการค้าฯได้เสนอ 7 แนวทางในการแก้ปัญหา คือ 1. ภาครัฐจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีรูปแบบการปฎิบัติงานเช่นเดียวกันศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ขึ้นมา เพื่อให้มีความคล่องตัวในการประสานงานกับภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า2019 โดยนายกฯหรือหัวหน้าทีมเศรษฐกิจนั่งเป็นประธานศูนย์ ,2.การแก้ปัญหาปากท้อง ลดภาระค่าใช้จ่ายของเอสเอ็มอี ที่ภาครัฐดำเนินการไปแล้ว 3 เดือน แต่ต้องการขยายให้ถึงสิ้นปี ,3.การแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน 4. ลดการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้าง โดยกฎหมายกำหนดให้ นายจ้าง ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตรา 4% ให้ลดเหลือ 1% ,5.เร่งให้เปิดด่านการค้าชายแดนให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าได้ ,6.เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายบางอย่างที่ล้าหลังให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และ7.ในส่วนของการแก้ไขปัญหาในระยะยาวหอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) โดยให้นำข้อดีข้อเสียจากการเข้าร่วมที่มีการศึกษามาก่อนหน้านี้ มาพิจารณา ไม่ควรอยู่เฉยเพราะอาจทำให้ประเทศไทยตกขบวนด้านเศรษฐกิจหลังการระบาดของไวรัสปรับตัวดีขึ้น "สภาหอการค้าฯมีความกังวนว่าการประสานงานระหว่างพรรค และหน่วยงานอาจมีปัญหา มีความล่าช้า ซึ่งได้เคยหารือกับรองนายกฯสมคิด ก็ยืนยันว่ายังทำงานอยู่ ส่วนเรืองการปรับครม.นั้นเป็นเรื่องของนายกฯ ซึ่งเอกชนก็ต้องดูต่อไปว่าปรับกันอย่างไร"