ชุดประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศปอส.ตร. โชว์ผลงานปราบเกรียนคีบอร์ด 10 ราย โพสต์ข่าวบิดเบือนความจริง เตือนพวกมือบอนระวังโทษทั้งจำทั้งปรับ วันนี้ (10 ก.ค.63) พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.ข่าวกรองยาเสพติด ในฐานะหัวหน้าชุดประสานความร่วมมือกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ก่อตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) เพื่อแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน ที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง รวมทั้งชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง เช่น โรคระบาดภัยพิบัติ ข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ อีกทั้งพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีความห่วงใยประชาชนผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเหล่านี้ จึงมีนโยบายกำชับทุกหน่วย ทำการสืบสวน จับกุม ปราบปรามการกระทำผิดในลักษณะนี้มาโดยตลอด จึงได้มีคำสั่ง ตร.ที่ 574/2562 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2562 จัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อดำเนินการปราบปราม จับกุมผู้ที่กระทำผิดให้มารับโทษตามกฎหมาย พร้อมดำเนินการบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น การเยียวยาให้ผู้เสียหายตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม สร้างความเชื่อมั่น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้กับประชาชน ทั้งนี้ ผลการดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดฯ และดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเสนอข่าวอันไม่เป็นความจริง บิดเบือนข่าวสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในห้วงวันที่ 29 มิถุนายน–10 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และการใช้อำนาจตามกฎหมายอื่น รวมผลการปฏิบัติการ จำนวน 10 ราย โดยพบว่า มีการโพสต์เนื้อหา “ยาบ้าสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้” ซึ่งทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าเป็นข่าวปลอม จำนวน 4 ราย ได้แก่ นายอาคมฯ ได้ใช้เฟสบุ๊ก “ทาง สาย...” อาศัยอยู่ที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี นายอัมนุวาฯ ได้ใช้เฟสบุ๊ก “Amnuva...” อาศัยอยู่ที่ อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งทั้ง 2 ราย ให้การยอมรับว่า เป็นผู้โพสต์จริง จึงทำการตรวจยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการกระทำความผิด และนำส่งพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อดำเนินการต่อไป ขณะที่นายกิตติฯ ได้ใช้เฟสบุ๊ก “ต๊ะ...” อาศัยอยู่ที่อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ด่านขุนทด เข้าตรวจค้นตามหมายค้นศาลจังหวัดสีคิ้ว เบื้องต้นไม่พบเจ้าตัว จึงได้ทำการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งมอบให้พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ผู้รับผิดชอบคดีเพื่อออกหมายเรียกและหมายจับ และนายสัญชัยฯ ได้ใช้เฟสบุ๊ก “สัญชัย...” อาศัยอยู่ที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางปะกง เข้าทำการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งมอบให้พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ผู้รับผิดชอบคดีเพื่อออกหมายเรียกและหมายจับต่อไป นอกจากนี้ มีการโพสต์เนื้อหาว่า “พมจ.ช่วยเหลือผู้พิการ แจกเงินคนละ 2,000 บาท” ซึ่งทางกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แจ้งว่าเป็นข่าวปลอม จำนวน 5 ราย ได้แก่ น.ส.อรวรรณฯ ได้ใช้เฟสบุ๊ก “ออ...” อาศัยอยู่ที่ อ.สำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ นายบรรเจิดฯ ได้ใช้เฟสบุ๊ก “ปุ้ย...” อาศัยอยู่ที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย นายสัญญาฯ ได้ใช้เฟสบุ๊ก “Tom...” อาศัยอยู่ที่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ น.ส.ณัฐนรีฯ ได้ใช้เฟสบุ๊ก “ณัฐนรี...” อาศัยอยู่ที่ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช และนายยุทธภูมิฯ ได้ใช้เฟสบุ๊ก “ร็อกแซ็ก...” อาศัยอยู่ที่ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี จึงได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท้องที่นั้นๆ เข้าทำการแจ้งข้อกฏหมายที่เกี่ยวกับการนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ให้ทราบ เบื้องต้นทั้ง 5 ราย ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง และรับทราบเข้าใจถึงข้อกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งให้ทราบแล้ว และได้ทำการลบโพสต์ดังกล่าวด้วยความสมัครใจของตนเอง และรับปากว่าจะไม่โพสต์ข้อความที่เป็นข่าวปลอม/บิดเบือน ในลักษณะดังกล่าวนี้อีก ขณะที่น.ส.ชรินทร์ทิพย์ฯ ได้ใช้เฟสบุ๊ก “กะทิ...” อาศัยอยู่ที่อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี โพสต์ว่า “รัฐหลอกให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา เพื่อจะเรียกเก็บภาษี” ซึ่งทางกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง แจ้งว่าเป็นข่าวปลอม จึงได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองชลบุรี เข้าทำการแจ้งข้อกฏหมายที่เกี่ยวกับการนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ให้ทราบ เบื้องต้นเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง และรับทราบเข้าใจถึงข้อกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งให้ทราบแล้ว และได้ทำการลบโพสต์ดังกล่าวด้วยความสมัครใจของตนเอง และรับปากว่าจะไม่โพสต์ข้อความที่เป็นข่าวปลอม/บิดเบือน ในลักษณะดังกล่าวนี้อีก "อย่างไรก็ตาม ขอเตือนประชาชน ที่จะโพสต์ข้อมูลข่าวสาร อันไม่เป็นความจริง ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือบิดเบือนข่าวสาร จนเกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"พล.ต.ต.พันธนะ กล่าว