ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน’เป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้มีความมั่นคงในชีวิตคณะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายเข้ายื่นหนังสือเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการฯต่อเลขาธิการรัฐสภาเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2562 ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ....’ โดยการเข้าชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน เพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณา เป้าหมายเพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจการของกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้มีความมั่นคงในชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ! สวัสดิการภาคประชาชน กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี 2548 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล/เทศบาล นำร่องในพื้นที่ 99 ตำบลทั่วประเทศ แก้ว สังข์ชู ประธานอนุกรรมการเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับชาติ ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง อธิบายว่า หลักการสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชน คือ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” โดยให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือเดือนละ 30 บาท หรือปีละ 365 บาท (ตามความสะดวกและเหมาะสมของแต่ละกองทุน) หลังจากนั้นสมาชิกจึงจะมีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนตามระเบียบที่กำหนดเอาไว้ เช่น ช่วยเหลือในยามคลอดบุตร (500-1,000 บาท) เจ็บป่วย ( ช่วยค่ารถ ค่าเยี่ยมไข้ 100 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน) เสียชีวิต (3,000-10,000 บาท) ทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การดูแลสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ป่าชุมชน สร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมสุขภาพอนามัย ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดอบรมให้ความรู้ต่างๆ โดยกองทุนฯ ร่วมสมทบเงินเพื่อส่งเสริมกิจกรรม หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ‘กองบุญ’ ที่ช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย “กองทุนสวัสดิการชุมชนถ้าพูดในหลักของธรรมะ คือเป็น ‘กองบุญ’ ที่สมาชิกทุกคนร่วมกันบริจาค หรือสมทบเงินเข้ามาเพื่อเป็นกองบุญ โดยรวมตัวกันคนละบาท เพื่อเป็นเงินเอาไว้ดูแลสมาชิกเมื่อเวลาทุกข์ยากลำบาก หรือคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนก็ยังช่วยเหลือ และไม่ใช่เป็นเงินออมหรือเงินฝาก แต่เป็นเงินที่ทุกคนทำบุญร่วมกัน และการทำบุญครั้งนี้เป็นการทำบุญเพื่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาเอง มีการบริหารงานโดยคนในชุมชนเป็นหลัก” ประธานอนุกรรมการเครือข่ายสวัสดิการชุมชนฯ ขยายความ จากกองทุนสวัสดิการชุมชนที่เริ่มก่อตั้งในปี 2548 ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2563) มีอายุย่างเข้า 15 ปี โดยมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล/เทศบาลทั่วประเทศแล้ว จำนวน 6,027 กองทุน มีสมาชิกรวม 5,807,860 คน มีเงินกองทุนรวมกันกว่า 16,000 ล้านบาท (ร้อยละ 66 เป็นเงินที่มาจากการสมทบของสมาชิก ส่วนที่เหลือเป็นเงินสมทบจากรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้อง เงินบริจาค ฯลฯ) ช่วยเหลือสมาชิกไปแล้วกว่า 2 ล้านคน รวมเป็นเงินกว่า 2,100 ล้านบาท กองทุนสวัสดิการชุมชนก็เหมือนกับ ‘กองบุญ’ ที่ ‘แก้ว สังข์ชู’ กล่าวเอาไว้ เพราะสมาชิกทุกคนเอาเงินมากองรวมกันไว้ เพียงแค่วันละ 1 บาท หากมีสมาชิก 100 คน จะเป็นเงินวันละ 100 บาท เดือนละ 3,000 บาท ปีละ 36,000 บาท ฯลฯ นานวันเข้าก็เป็นเงินแสน เงินล้าน เมื่อรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุนในอัตรา 1 ต่อ 1 รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ห้างร้าน ร่วมสมทบเงินเข้ากองบุญก็ยิ่งทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนต่างๆ เติบโต ช่วยเหลือสมาชิกได้อย่างทั่วถึง เสนอกฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่สภาฯ แม้ว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนจะเริ่มจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลและเทศบาลแล้วกว่า 6,000 กองทุนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม กองทุนสวัสดิการชุมชนต่างๆ ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ยังไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล รวมทั้งยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง บางกองทุนมีความเข้มแข็ง เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่หลายกองทุนยังขาดความเข้มแข็ง การบริหารจัดการยังไม่เป็นระบบ ฯลฯ ดังนั้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แกนนำเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศจึงได้เริ่มขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้มี ‘กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน’ ขึ้นมา ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 133 (3) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ แก้ว สังข์ชู ในฐานะประธานผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย กล่าวว่า จากเหตุผลดังกล่าว คณะอนุกรรมการเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับชาติจึงได้ประชุมปรึกษาหารือร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่นวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันพระปกเกล้า โดยมีนักวิชาการด้านกฎหมายจากสถาบันพระปกเกล้าช่วยร่างกฎหมายขึ้นมา คือ ‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ...’ และมีการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ. โดยการรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ รวมทั้งชี้แจงและสร้างความเข้าใจกับพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ “ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ วัตถุประสงค์แรก เราจะยกระดับกองทุนขึ้นเป็นนิติบุคคล เพื่อให้ทำนิติกรรมและสัญญาต่างๆ ได้ และเมื่อภาคเอกชนหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ บริจาคหรือสมทบเงินช่วยเหลือกองทุนก็สามารถนำหลักฐานไปลดหย่อนภาษีได้ วัตถุประสงค์ที่สอง คือ เพื่อรองรับความเสี่ยง เพราะตอนนี้กองทุนสวัสดิการฯ เติบโตทั้งคน ทั้งเงิน บางกองทุนมีเงิน 5 ล้านบาท บางกองทุนมี 10 ล้านบาท มีสมาชิก 3-4 พันคน ถ้ามีกฎหมายรองรับขึ้นมา กฎหมายฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมระบบสวัสดิการให้เข้มแข็ง” ประธานผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายอธิบาย เขาบอกด้วยว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ใช่เป็นกฎหมายบังคับ แต่จะส่งเสริมให้มีคนและองค์กรต่างๆ เข้ามาร่วมกันยกระดับ เข้ามาด้วยความสมัครใจ กฎหมายเป็นแค่ ‘เครื่องมือ’ เท่านั้น เพื่อส่งเสริมให้กองทุนสวัสดิการชุมชนยกระดับขึ้นเป็นเสาหลักของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้สาระสำคัญของ ‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ....’เช่น มาตรา 12 ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชนแห่งชาติ (กสสช.) มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน เสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายการจัดระบบสวัสดิการฯ ให้มีหรือแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติให้เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมสวัสดิการฯ เสนอแนะมาตรการด้านการเงิน การคลัง การภาษีอากร หรือด้านอื่น เพื่อส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน ฯลฯ มาตรา 22 ให้มีคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการของชุมชนระดับจังหวัด (คสสจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่และอำนาจจัดทำแผนส่งเสริมการพัฒนาระบบสวัสดิการของชุมชน ส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้ง การพัฒนา การแก้ปัญหาและติดตามการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนในจังหวัด ฯลฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการฯ เส้นทางสู่รัฐสภา ดร.มณเฑียร สอดเนื่อง ที่ปรึกษาเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า หากการผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้สำเร็จ ตนเชื่อว่ากฏหมายฉบับนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เหตุผลแรก คือ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความร่วมมือ เสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมและชุมชนจากฐานราก สร้างหลักประกันและความมั่นคงในชีวิตของชุมชนตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะเมื่อมีกฎหมายมารองรับ จะทำให้ขบวนองค์กรชุมชนทำงานได้ดีขึ้น “นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งเสริมการบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนสวัสดิการยังไม่ได้รับการยอมรับ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ แต่เมื่อมีกฎหมายรองรับแล้ว จะเกิดการยกระดับการทำงานของสวัสดิการชุมชนทั้งระบบ และเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนของเราจะยั่งยืนหรือไม่เพราะฉะนั้นเราจะใช้โอกาสในการเคลื่อนกฎหมายนี้ เคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนของเราไปพร้อมๆ กัน” ดร.มณเฑียรกล่าว ส่วนขั้นตอนการเสนอร่าง พ.ร.บ.ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 นั้น ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนได้เสนอเรื่องเป็นหนังสือต่อประธานรัฐสภาแล้ว หลังจากนั้นสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบร่าง พ.ร.บ. และเอกสารต่างๆ เพื่อความถูกต้อง ฯลฯ และล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาฯ มีหนังสือแจ้งมายังผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายเพื่อให้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อให้ครบ 10,000 คน ขณะที่เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนได้จัดอบรมแกนนำเครือข่ายทั่วประเทศประมาณ 300 คนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. รวมทั้งขั้นตอนและกระบวนการเข้าชื่อตามกฎหมาย เพื่อให้กลับไปรณรงค์ ชี้แจง สร้างความเข้าใจให้สมาชิกกองทุนฯ ทุกจังหวัดที่มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อ ไม่น้อยกว่า 12,000-15,000 คน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากนั้นจะรวบรวมรายชื่อ พร้อมทั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อตรวจสอบเอกสารความถูกต้องตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป...!! แก้ว สังข์ชู ในฐานะประธานผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอเชิญชวนคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาชน และพรรคการเมืองได้เผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ผู้เกี่ยวข้องได้ศึกษา ทำความเข้าใจ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะและสนับสนุนการขับเคลื่อนการเสนอร่าง พ.ร.บ. และร่วมลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชนฉบับนี้” (หมายเหตุ:อ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับเต็ม และร่วมลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ที่เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้าhttp://kpi.ac.th/news/news/data/867)