กรมชลประทาน ประชุมวางแผนเตรียมพร้อมรับน้ำหลากลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ปี 2563 เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำ และประชุมเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนฤดูฝนปี 2563 โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1-4 และผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและร่วมประชุม ณ ห้องประชุมโครงการชลส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน สำนักงานชลประทานที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,091 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 1,254 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของความจุอ่างรวมกัน ประกอบด้วย มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่รวมกัน จำนวน 8 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 7,664 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 919 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของความจุอ่างรวมกัน อ่างเก็บน้ำขนาดกลางรวมกัน จำนวน 80 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 284 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 192 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุอ่างรวมกัน อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 701 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 143 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 143 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่าง ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1-4 ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ไว้ 8 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 1-4 เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการการบริหารจัดการน้ำ 2.ตรวจสอบสภาพอาคารในลำน้ำสายหลัก คันพนังกั้นน้ำ รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน 3.ดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 4.บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 5.จัดประชุมชี้แจงสถานการณ์ให้กลุ่มผู้ใช้น้ำรวมถึงผู้ได้รับผลกระทบทั้งด้านเหนือน้ำและด้านท้ายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดความเสียหายในวงกว้าง 6.ดำเนินการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 7.เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ สำหรับเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และ 8.บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงานชลประทานที่ 1-4 อีกด้วย