ผ่านพ้นครึ่งปีแรก 2563 ซึ่งมีอะไรเกิดขึ้นมากมายกับเศรษฐกิจประเทศ ท่ามกลางความวุ่นวายของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้าจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศประกาศปิดประเทศ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยุติลงเมื่อไหร่ โดยมีหลายประเทศได้ผ่อนปรนการป้องกัน สุดท้ายต้องประกาศปิดประเทศใหม่อีกครั้ง ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัว ต้องกลับมาดิ่งลงเหวอีกครั้ง!!! ทั้งนี้มีข่าวที่น่าสนใจจาก “เว็บไซต์นิกเคอิ” รายงานว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น (เจซีอีอาร์) และหนังสือพิมพ์นิกเคอิ สำรวจความคิดเห็นรายไตรมาส ได้คำตอบจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ 38 คน จาก 6 ประเทศใหญ่อาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และอินเดีย พบว่าระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. เศรษฐกิจทั้ง 6 ประเทศดิ่งหนัก คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ประจำปี 2563 ติดลบทุกประเทศ การว่างงานเพิ่มขึ้น ผู้ให้ข้อมูลคาดว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง แต่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ควบคุมการระบาดได้อย่างเหมาะสม ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมในระยะกลาง และระยะยาวหลังโควิด-19 นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า ภาคธุรกิจ และการใช้ชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนมาเป็นดิจิทัลอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดและเดินหน้าต่อไป บางคนเตือนให้ระวังการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจเพิ่มมากขึ้น เพราะการทำกิจกรรมออนไลน์มากขึ้น เช่น ทำงานจากที่บ้านยิ่งเพิ่มโอกาสการโจมตีให้กับเหล่าแฮกเกอร์ ขณะที่การรวมกิจการจะมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกิจการแบบเดิมๆ ที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ธุรกิจใหญ่ยิ่งมีบทบาทเด่น ขณะที่เอสเอ็มอีต้องเอาตัวรอดเนื่องจากความต้องการซบเซา แถมรัฐบาลยังไม่สนับสนุน อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลกอาจมีหลากหลาย ความเสี่ยงเรื่องการไร้เสถียรภาพทางการเงินยังมีสูง โลกมีแนวโน้มลดความเป็นโลกาภิวัตน์ ไม่อยากนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น หันมาใช้สินค้าผลิตเองภายในประเทศเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ผลิตภายใน สิ่งเหล่านี้ คือ มุมมองที่สรุปได้จากนักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์ ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมของอาเซียนที่เกิดขึ้น! แต่หากเจาะจงเฉพาะประเทศไทย ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอย่าง “ธุรกิจส่งออก” ที่ตอนนี้สินค้ารอการส่งออกได้หยุดชะงัก เพราะมาตรการล็อกดาวน์ของต่างๆประเทศมีผลต่อภาคนำเข้า โดย “นางสาวกัณญภัค ตัณติพิพัฒน์พงศ์” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) หรือ สรท. กล่าวว่า เวลานี้เศรษฐกิจโลกยังคงติดลบ ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 มองว่าผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวอย่างค่อยเป็น ค่อยไป โดยสิ่งที่น่าเป็นกังวลใจ คือ ตลาดตะวันออกกลาง ถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกของประเทศไทย ปัจจุบันยังล็อกดาวน์ประเทศอยู่ ส่วนตลาดเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น น่าจะมีการส่งออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าการส่งออกจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เป็นลำดับ ทั้งนี้ภาพรวมการส่งออกเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา มีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -22.50% การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 524,584 ล้านบาท หดตัว -20.91% ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 13,583 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -34.41 % และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 443,478 ล้านบาท หดตัว -33.08% ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,694 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 81,105 ล้านบาท ส่วนภาพรวมในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- พ.ค.) มีการส่งออกรวมมูลค่า 97,898 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -3.71% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 3,041,719 ล้านบาท หดตัว -5.18% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 88,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -11.64% หรือคิดเป็นมูลค่า 2,793,188 ล้านบาท หดตัว -13.22% ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้า 9,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 248,531 ล้านบาท ทั้งนี้ สรท. ได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัว -10% เห็นได้ว่าตัวเลขการส่งออกในภาพรวมช่วง 5 เดือน หรือ เจาะจงเฉพาะรายเดือน แม้การส่งออกจะหดตัวติดลบ แต่ก็สามารถทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้าได้ เป็นการส่งสัญญาณที่ดีของการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง!! ในขณะที่มุมมองของ “สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย” โดย “ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยฯ พูดถึงมุมมองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ว่าน่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นไตรมาสต่อไตรมาส และมีเรื่องที่น่าจับตา โดยเปรียบได้กับ ตัวอักษรย่อ 4 ตัว ได้แก่ ‘R’ ‘E’ ‘S’ ‘T’ R ย่อมาจาก Reshuffle คือ การปรับคณะรัฐมนตรี การเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจหากทำให้ชัดเจน ทำให้แข็งแกร่ง มีนโยบายที่ทำให้เห็นว่าจะนำเม็ดเงิน 4 แสนล้านบาทมาพยุงเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อต่างๆให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ดีทางด้านการเมืองจะสามารถทำให้ความเชื่อมั่นฟื้นได้ E ย่อมาจาก Exchange Rate อัตราแลกเปลี่ยน วันนี้ค่าเงินบาทค่อนข้างแข็งแรงกว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งสัญญาณออกมาแล้วว่าจะไม่ใช้การลดดอกเบี้ย แต่จะดูแลค่าเงินให้ผันผวนไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค S ย่อมาจาก Second Wave ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดีเรื่องโควิด แต่ต้องติดตามดูกันต่อว่าถ้ามีความเสี่ยงจากต่างประเทศเข้ามาลุกลามเป็น travel bubble และเข้ามาสู่เรื่องการส่งสินค้า เราจะรับมืออย่างไร T ย่อมาจาก Trade War สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่กำลังจะตกลงกันได้ สุดท้ายจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยถ้ามีความชัดเจนได้ การค้าการส่งออกของไทยกับภูมิภาคน่าจะดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกของไทยน่าจะฟื้นตัวได้ จากตัวเลขการส่งออกล่าสุดที่ติดลบถึง -22% โดยสรุป แม้ 4 คำ รวมกันเป็นคำว่า R E S T ที่แปลว่าพักผ่อน แต่เศรษฐกิจไทยตอนนี้อาจจะยังไม่สามารถพักผ่อนได้ อย่างไรก็ดี ภาพครึ่งหลังของปีน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น แม้จะหดตัวเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่น่าจะฟื้นตัวไตรมาสต่อไตรมาส คงต้องลุ้นในครึ่งปีหลังว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร!?! ‘R’ ‘E’ ‘S’ ‘T’ จะพาเราถึงฝั่งฝันหรือไม่!!! คำตอบจะได้เห็นในเร็ว ๆ นี้