เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่รัฐสภภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระการพิจารณารับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ (เดือนต.ค.-ธ.ค.2562) ต่อจากเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่มีการขอนับองค์ประชุมและปรากฎว่าองค์ประชุมไม่ครบจนสภาฯ ล่มนั้น นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ  คนที่หนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุมแจ้งว่า จากการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ซึ่งองค์ประชุมไม่ครบจนต้องสั่งปิดการประชุมนั้น วันนี้จึงขอประกาศจำนวนสมาชิกที่เข้ามาลงชื่อขณะนี้จำนวน 443 คน ถือว่าครบองค์ประชุม จึงขอดำเนินการประชุมต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า ระเบียบวาระนี้ตนได้อภิปรายไปแล้วว่าไม่ขอรับทราบรายงานฉบับนี้ และเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ก็ได้มีการตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อให้เห็นว่าสภาฯ มีความสำคัญ ไม่ใช่สภาฯ ตรายาง แต่สภาฯ กลับแสดงภาพที่ไม่พร้อมให้ฝ่ายบริหารตำหนิได้ ดังนั้น วันนี้ถ้าเอาระเบียบวาระดังกล่าวเข้ามาพิจารณาอีก ตนในฐานะตัวแทนฝ่ายค้านจึงไม่สามารถที่จะรับทราบรายงานฉบับนี้ได้ แต่ถ้าหากเสียงข้างมากจะดำเนินการไปตามระเบียบวาระนั้นพวกตนก็ไม่ว่า แต่พวกตนขอไม่อยู่รับทราบในวาระนี้ อย่างไรก็ตาม หากเสร็จจากการพิจารณาในวาระนี้แล้ว พวกตนก็ยินดีที่จะกลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิม จึงขออนุญาตออกจากห้องประชุม จากนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านจึงทยอยเดินออกจากห้องประชุมสภาฯ ทันที ทั้งนี้ แม้ว่านายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาลจะพยายามชี้แจงขั้นตอนและหลักการในการรับทราบรายงานว่าเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่ฝ่ายค้านก็ยังยืนยันที่จะไม่ขออยู่รับทราบรายงานฉบับนี้ ในที่สุดที่ประชุมสภาฯ จึงเข้าสู่การพิจารณาตามระเบียบวาระต่อไป จากนั้น นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายว่า ตนมีคำถามเบื้องต้นว่า ทำไมกรรมการปฏิรูปประเทศไม่มาร่วมรับฟังความเห็นจากสภาฯ มีแต่ตัวแทนสภาพัฒน์ฯ จึงเรียกร้องให้เชิญกรรมการปฏิรูปมาร่วมรับฟังด้วย อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า สถานะของคณะกรรมการฯ แต่ละชุดเพิ่งจะเริ่มนับหนึ่ง แม้จะผ่านมาแล้วเกือบ 3 ปีก็ตาม เพราะกรรมการลาออกกันเยอะ บางคณะทำงานไม่ได้ ซึ่งครม.เพิ่งได้มีการแต่งตั้งไปแทน พร้อมๆกับ ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้นใหม่อีก 2 คณะ คือ ด้านการศึกษา กับด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งดูจากรายชื่อแล้ว เห็นว่า มีความหลากหลาย แม้จะช้าไป 2ปี แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา จะรอดูผลงานกันต่อไป ส่วนความก้าวหน้าของการปฏิรูปในภาพรวมเกือบทุกด้านตามรายงานนั้น ตนคิดว่า ยังไม่มี โครงการต่างๆที่ปรากฎเป็นนามอธรรม ไม่อาจวัดผลสมฤทธิ์เป็นรูปธรรมได้เลย อย่าง การปฏิรูปด้านการเมือง ถือว่า เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพราะจะเป็นปัจจัยนำไปสู่ผลด้านลบต่อการพัฒนาประเทศ "เหตุที่ไม่มีความก้าวหน้า อาจมาจากเหตุที่กรรมการปฏิรูปลาออกไปจนเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี จนเหลือเพียง 2 คนมานาน ประชุมไม่ได้ นอกจากนี้ตนคิดว่า ขณะนี้มีปัจจัยท้าทายการปฏิรูป 2 เรื่องที่ต้องมีการแก้ไข 1.แก้ไขปัญหาเร่งด่วนฉุกเฉินเฉพาะหน้า ควรปรับปรุงแผนการให้สอดคล้องกับสภาวการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะแผนงานด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และการบริหารประเทศต้องจูนใหม่ เพื่อให้สอดรับ ซึ่งในพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ มาตรา 13 เปิดช่องให้แก้ไขได้ จึงเสนอให้แก้ไขทำให้สอดคล้อง โดยเชื่อว่า ยังทัน ไม่ช้าเกินไป และ2. ควรแก้ไขปัญหาสภาวะสำคัญของสถานะการปฏิรูป ตามรัฐธรรมนูญ โดยกเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยส่วนตัวให้คงหมวดนี้ไว้ แล้วปรับปรุงกลไกเสียใหม่ทั้งหมด และยังขอให้ขยายการรายงานต่อสภาออกไปเป็นทุก 6 เดือนแทน 3 เดือนที่เป็นไปไม่ได้ในเชิงบริหาร จนทำให้รัฐบาลกับฝ่ายค้านผิดใจกัน" นายนิกร กล่าว ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การเสนอรายงานฉบับนี้ตามมาตรา 270 มีข้อถกเถียงในหมู่ ส.ส.จำนวนมาก ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะการรายงานตามมาตรา 270 ต้องรายงานต่อรัฐสภาทุกๆเดือน แต่การรายงานครั้งนี้ เป็นรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น จึงมีข้อสงสัยว่าชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการกำหนดให้มีการรายงานทุก3เดือนนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมาก ซึ่งคนเขียนรัฐธรรมนูญไม่เข้าใจบริบทการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับโลงศพ ที่คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เช่นเดียวกันคนเขียนไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้เขียน จึงมีความลักลั่นตามที่เห็นอยู่ในขณะนี้ ส่วนการรายงานความคืบหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ 12 ด้าน ไม่จำเป็นต้องปฎิรูปให้เสียเวลา เพราะสาระสำคัญของการปฏิรูป หรือหัวใจของการปฏิรูปประเทศ อยู่ที่รัฐธรรมนูญ ถ้ามีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล ก็สามารถครอบคลุมการปฏิรูปในทุกด้าน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องมีการปฏิรูปในหลายด้าน แต่หัวใจสำคัญที่สุดที่ต้องปฏิรูป คือการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองของส.ส. คือ หมวดคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นปราการด่านแรก ที่จัดการเลือกตั้ง ให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่เมื่อ กกต.ชุดนี้มีความล้มเหลวในการจัดการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีการเลือกตั้ง 350 เขต มีการซื้อเสียงอย่างมโหฬาร แต่ กกต.ไม่สามารถให้ใบแดงกับผู้สมัครคนใดได้เลยแม้แต่คนเดียว ให้ได้แค่ใบเหลืองแก่ผู้สมัคร2เขตเลือกตั้งเท่านั้น นายเทพไท กล่าวต่อว่า เมื่อการเข้าสู่ตำแหน่งของ ส.ส.ไม่สุจริต ทำให้การเข้าสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่ต้องใช้เสียงโหวตจากส.ส.รวมกับส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.จำนวน250คน เพื่อมาเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี เมื่อเป็นเช่นนี้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นหวยล็อค เปรียบเสมือนเปิดถ้วยไฮโลแทง ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองจึงเป็นแค่วาทกรรม ทั้งที่มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนถึงบัดนี้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ก็อย่าคาดหวังเรื่องการปฏิรูปอีกเลย เพราะ สมัย คสช. มีมาตรา 44 อยู่ในมือ ยังไม่สามารถปฏิรูปอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน แม้แต่การปฏิรูปตำรวจก็ยังรอให้ปฏิรูปหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีความเป็นไปได้เลย ต้องรอชาติหน้าตอนบ่ายๆถึงจะสำเร็จ “ฉะนั้นการปฏิรูปเป็นได้แค่วาทกรรมไม่สามารถเป็นจริงได้ เมื่อการปฏิรูปที่เป็นวาทกรรมล้มเหลว ตอนนี้ก็มาเป็นการปฏิรูปแค่พิธีกรรม นั่นก็คือการรายงานความคืบหน้าแผนการปฏิรูปประเทศต่อสภาฯเพื่อรับทราบอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นพิธีกรรมตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น”นายเทพไท กล่าว