ภายใต้แนวคิดเมืองน่าอยู่ยั่งยืน โดยชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ 3 กรอบหลัก เพื่อสาธารณประโยชน์ น่าอยู่-ทันสมัย และคงวิถีชีวิตชูจุดเด่นพัฒนา ตั้งกรอบเวลา 5 ปี นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าฯกทม.เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เพื่อผลักดันเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ระหว่างกทม.กับมหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้แนวคิดเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วยการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เพื่อผลักดันเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นการสร้างกรอบและต้นแบบพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยนำพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์มาเป็นพื้นที่ศึกษา รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกทม.กับม.ศิลปากร ประชาชน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน อีกทั้งมีกลไกดำเนินงานและประสานความร่วมมือระหว่างกทม.กับม.ศิลปากรในการพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ โดยมีขอบเขตดำเนินการในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน บริเวณที่มีน้ำล้อมรอบทางด้านทิศตะวันออกจรดคลองรอบกรุงหรือคลองโอ่งอ่างและบางลำภู ตั้งแต่เชิงสะพานพระปกเกล้าขึ้นไปทางทิศเหนือไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณป้อมพระสุเมรุ และทิศตะวันตกจดแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ ภายใต้กรอบแนวคิด 3 เรื่องหลัก 1.City Information Model ร่วมกันสร้าง ecosystem และพัฒนา Open World Platform เพื่อการบริหารจัดการและให้บริการข้อมูลเปิดของพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เพื่อสาธารณประโยชน์ 2.Urban Development ร่วมมือกับเครือข่ายชุมชนแต่ละพื้นที่เพื่อให้มีส่วนร่วมฟื้นฟูและพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน และทันสมัยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ 3.Creative Economy ร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้สภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ทรงคุณค่าทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม ในแต่ละย่านที่มีศักยภาพ เช่น ย่านศิลปากร (แนวคิดพัฒนาเป็น living gallery) ย่านปากคลองตลาด (แนวคิดพัฒนาเป็น flower lab) และย่านบางลำภู (มีแนวคิดพัฒนาเป็น food lab) เป็นต้น โดยมีระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามร่วมกัน นอกจากนี้ กทม.ยังพัฒนาความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนที่มีศักยภาพสูง เพื่อช่วยกันพัฒนากทม.สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานส่งเสริมนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กรอบความร่วมมือ RMIT กับมหาวิทยาลัยของออสเตรเลีย และกรอบความร่วมมือ Future City กับสถานทูตอังกฤษ เป็นต้น