ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย เมื่อพลเอกเจมส์ แมคคอลวิลล์ ผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐฯมาเยือนไทย ในระหว่างวันที่ 9-10 ก.ค.นี้ ในฐานะแขกของรัฐบาล โดยจะเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และขาดมิได้ก็คือ ผบ.ทบ.ไทย พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ทันทีที่มีข่าวก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆนานาว่า คณะนายทหารที่จะเดินทางมาเยี่ยมเยียนบุคคลสำคัญในประเทศไทย อันสหรัฐฯถือว่าเป็นมหามิตรอันยาวนาน และกำลังจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐอเมริกา ดังจะกล่าวต่อไป แต่ขอพูดเรื่องเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนคนไทยก็คือ คณะนี้ไม่ต้องผ่านการตรวจโควิด-19 ตามมาตรฐานของสบค. ที่บังคับใช้เป็นการทั่วไปสำหรับประชาชนคนไทย หรือผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพราะเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เชื้อโควิด-19 ไม่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศมาเกือบ 50 วันแล้ว ที่กังวลกันก็คือเชื้อที่จะมาจากต่างประเทศ จึงมีการถกเถียงกัน ตั้งแต่การจะเปิดให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามา เพราะอยากได้รายได้ เนื่องจากการท่องเที่ยวภายในกันเองไม่อาจทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คาดว่าจะมีทั้งหมด 4 ล้านคนต่อปีได้ แน่นอนการปล่อยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในระยะนี้ก็ต้องมีการคัดกรองกันอย่างเข้มงวดทีเดียว ถ้าระบาดรอบ 2 นี่ ประเทศไทยคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้น และอีกหลายปีจะเข้าระยะปกติ ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่คณะผบ.ทบ.สหรัฐฯจะเข้ามาโดยไม่ผ่านการคัดกรอง หรือกักตัว 14 วัน ตามมาตรฐานสบค. จึงเป็นเรื่องไม่เกินคาดหมาย เกิดเอาเชื้อไปติดนายกฯหรือผบ.ทบ. มันจะยุ่งกันใหญ่ แต่ที่ทำให้หงุดหงิดกันมากก็เห็นจะเป็นคำชี้แจงของโฆษกสบค. และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้คือ นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า คณะของผบ.ทบ.สหรัฐฯมาเพียง 2 วัน จึงไม่ต้องตรวจและกักตัว..อ้าว ส่วนพล.อ.สมศักดิ์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแถลงว่า คณะผบ.ทบ.สหรัฐฯมาด้วยข้อตกลงพิเศษ จึงได้รับการยกเว้น ซึ่งทำให้ถูกมองว่าสหรัฐฯมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เสมือนประเทศไทยเป็นเมืองขึ้นยังไงยังงั้น อันที่จริงผู้เขียนไม่ได้สนใจประเด็นเหล่านี้เท่าไร มองว่าไม่มีสาระสำคัญอะไร แต่ถ้าทั้งสองท่านจะแถลงว่า “คณะผบ.ทบ.สหรัฐฯได้ผ่านการตรวจสอบโควิด-19 และมีใบรับรองจากสหรัฐฯแล้ว” ผู้เขียนเชื่อว่าคงไม่มีเสียงก่นด่าอึงมี่แบบนี้ ก็เขาห่วงนายกฯและผบ.ทบ.กันน่ะ จริงไม่จริงอย่างน้อยก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อยสบายใจ แต่ดูเหมือนฝ่ายรัฐบาลจะไม่ค่อยสนใจความรู้สึกของประชาชนเท่าไร จึงมักจะมีอะไรๆหลุดออกมาบ่อยๆ ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะไม่คิดอ่านกันเอาเอง ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจคือ เรื่องยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้นั่นคือ ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิค และยุทธศาสตร์ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง สำหรับยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิคนั้นแม้ว่าสหรัฐฯจะประกาศว่าเป็นข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนเพราะภูมิภาคนี้เป็นแหล่งที่มีประชากรหนาแน่น เรือบรรทุกสินค้า 2 ใน 3 ของโลก จะผ่านมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิคที่อยู่ในแถบนี้ แต่ที่สหรัฐฯเน้นมาก คือ หลักการที่ให้อินโดแปซิฟิคเป็นเขตเสรีและเปิด (Free and open) วิเคราะห์ตามเนื้อหามันเป็นการรุกทางการเมืองของสหรัฐฯ เพราะการให้เปิดแปซิฟิค และมหาสมุทรอินเดีย อย่างเสรีก็เท่ากับไปคุกคามจีนที่ประกาศเขตมหาสมุทรแปซิฟิค ส่วนทะเลจีนตอนใต้แถบหมู่เกาะสแปรตลี่ที่จีนเข้าไปครอบครอง และควบคุมเส้นทางเดินเรือและอากาศยาน นอกจากนี้ยังเป็นการตอกลิ่ม ประเทศต่างๆที่มีกรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะสแปรตลี่กับจีน คือฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบูรไนอีกด้วย ส่วนประเทศที่จะเข้าร่วมกับสหรัฐฯทำข้อตกลงนี้ตามการกล่าวอ้างของสหรัฐฯ คือ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ แคนนาดา จีน อินโดนีเซีย อิสราเอล ญี่ปุ่น ซีเชล สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา อังกฤษ และสหรัฐฯ แม้จะมีชื่อจีนอยู่ในโผ แต่เชื่อว่าจีนไม่เอาด้วยแน่ โดยเฉพาะการเปิดเสรีของอินโดแปซิฟิค และที่สำคัญก็ไม่มีประเทศไทยด้วย แต่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในยุทธศาสตร์ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วยไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เมื่อมองในภาพรวมยุทธศาสตร์ทั้ง 2 นี้ ก็คือการตอบโต้และปิดล้อมจีน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์หนึ่งเส้นทางหนึ่งแถบ (BRI) ของจีน ตลอดจนการคุกคามอิหร่านในมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย อนึ่งตามยุทธศาสตร์ทั้ง 2 นี้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องได้สมาชิกทั้งหมดเข้ามาลงนามร่วม เช่น ในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิคนั้น ขอให้มีออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย ก็จะเป็นแนวปราการปิดล้อมจีนจากการขยายอิทธิพลออกมาทางทะเล ยิ่งถ้าได้ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ก็ยิ่งปิดประตูตีแมว จีนได้แน่นหนา ส่วนอิหร่านสหรัฐฯไม่กังวลนัก เพราะมีกลุ่มประเทศอาหรับและฐานทัพรายรอบอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเดิมทีสหรัฐฯไม่ค่อยมั่นใจในท่าทีของอินเดียเท่าไร เพราะอินเดียเคยมีสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียมายาวนาน แต่พออินเดียปะทะกับจีนตามแนวชายแดนแถบหิมาลัย ประกอบกับจีนไปร่วมมือกับปากีสถานคู่ปรับอินเดีย ทำถนนเส้นทางสายไหมเชื่อมต่อและทำท่าเรือน้ำลึก ยังไม่พอไปทำท่าเรือน้ำลึกที่ศรีลังกา จึงทำให้อินเดียต้องขยับเข้ามาใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากขึ้น สำหรับประเทศไทยแม้เราจะไม่ได้อยู่ในรายชื่อสมาชิกตามยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิค และอยู่ในยุทธศาสตร์ลุ่มน้ำโขงตอนล่างก็ตาม แต่ที่ตั้งของเราบางส่วนในอันดามัน ก็เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย ดังนั้นการเดินทางมาเยือนของสหรัฐฯในครั้งนี้ก็เป็นการเริ่มต้นกระชับความสัมพันธ์ของกองทัพสหรัฐฯที่มีมายาวนานกับไทย และมีอิทธิพลต่อหลักคิดทางทหารหรือที่เรียกว่าหลักนิยมอยู่มาก ด้านหนึ่งก็คงพยายามมาขายอาวุธเพิ่มเติมและเน้นย้ำเรื่องการส่งมอบรถหุ้มเกราะสไทรเกอร์ แต่อาจมีการเกริ่นนำเรื่องยุทธศาสตร์ทั้ง 2 เป็นการนำร่องไปก่อน หลังจากนี้ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศคงเดินทางมาเยือนเพื่อผูกพันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะสหรัฐฯตระหนักแล้วว่าไทยเริ่มหันเหและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนมากขึ้นไปทุกที เกรงจะสายเกินแก้ ซึ่งก็อาจจะสายไปแล้วก็ได้ ทั้งนี้เพราะอิทธิพลของจีนไม่ได้เข้ามามีบทบาท แค่ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพเท่านั้น แต่กองทัพทางธุรกิจหลากหลายก็กำลังถาโถมเข้ามาในไทย แถมยังได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนไทยเชื้อสายจีนอีกด้วย เผลอๆจะกลายเป็น “มณฑลไท้กั๋ว” ไปเลยก็ได้ หากสหรัฐฯมีการเปลี่ยนประธานาธิบดีเป็นนายโจ ไบเดน นโยบายมุ่งตะวันออกอาจจะได้รับการรื้อฟื้น เพื่อขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้อีกครั้งก็ได้ ยกเว้นว่าขณะนี้สหรัฐฯกำลังถังแตกเพราะโควิด-19 จึงอาจเปลี่ยนท่าทีมาขายของมากขึ้นโดยเฉพาะอาวุธ ถึงขั้นมีรายการลดแลกแจกแถมก็ได้ จังหวะนี้ก็กำลังดี เพราะท่านนายกฯประกาศในสภาฯ แล้วว่า อาวุธยุทธโธปกรณ์ของไทยมันเก่า ล้าสมัยแล้วต้องเปลี่ยนครั้งใหญ่ เงินไม่มีก็กู้ หรือผ่อนส่งไปก็แล้วกัน