เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และ เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เดินทางไปจังหวัดลำพูน เพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านที่อำเภอเวียงหนองล่อง พบปะประชาชนเพื่อพูดคุยถึงแนวทางการทำงานเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งท้องถิ่น และทำกิจกรรมเดินแจกหน้ากากอนามัยที่ตลาดสดหนองดอก โดยมีพ่อค้าแม่ขายในตลาดให้ความสนใจและเข้ามาเล่าถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านท่านหนึ่งเล่าว่า หนองล่องเป็นหนองน้ำสาธารณะมีเนื้อที่ประมาณ 59 ไร่ ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่อดีต เดิมทีหนองน้ำนี้เจ้าผู้ครองเมืองลำพูนเป็นผู้ดูแลและรักษา ชาวบ้านไปจับปลาทำมาหากินทุกปี ต่อมาได้มอบหมายให้กำนันตำบลวังผางในสมัยนั้นดูแลรักษาแทน แต่เมื่อผู้เจ้าครองลำพูนเสียชีวิตลงไปกำนันก็ได้ไปแจ้งครอบครองที่ดินที่ยึดถือรวมทั้งหนองน้ำไปเป็นของตนและขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) โดยข้อเรียกร้องของชาวบ้านคือต้องการให้ เพิกถอน น.ส.3 ที่ออกทับหนองน้ำสาธารณะ เพื่อให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน ปิยบุตร แสงกนกกุล เล่าให้พี่น้องฟังว่าปัญหาที่ดินในประเทศไทยมีอยู่หลายพื้นที่ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะที่ดินคือปัจจัยพื้นฐานในการผลิตของชาวบ้าน เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต หากไม่มีที่ดิน ก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะผลิตหรือหารายได้ อย่างที่พี่น้องเล่าให้ฟังว่าเคยเข้าไปจับปลาทำมาหากินได้ แต่เมื่อมีการไปพิสูจน์ออกเอกสารว่าที่ดินนี้เป็นของคนอื่น ปลานั้นก็ไม่ใช่ของเราไปด้วย “ผมสังเกตปัญหาที่ดินในประเทศไทยวมีจุดร่วมกันอยู่คือสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ทำไมสำหรับพี่น้องจึงยากลำบากเหลือเกินที่จะมีที่ดินเพื่อทำมาหากิน แต่เหตุใดกับบางกลุ่มบางคนมีที่ดินจนสุดลูกหูลูกตา แต่กับพี่น้องที่จำเป็นต้องมีที่ดินเพื่อดำรงชีวิตเพียงนิดเดียวกลับได้มาอย่างยากลำบาก อีกเรื่องคือสะท้อนปัญหารัฐราชการของประเทศไทย เช่น เปลี่ยนผู้ว่าฯ ไปหลายคน ยื่นหนังสือไปหลายรอบแต่สุดท้ายเรื่องก็ยังไม่ไปไหน หรือบางทีพี่น้องตกลงกับผู้ว่าฯ ไว้แบบหนึ่ง พอวันหนึ่งเปลี่ยนคนก็ต้องมาเจรจากันใหม่อีก จึงเกิดความไม่มั่นคงแน่นอนในสถานะถือครองที่ดิน ตรงนี้เนื่องมาจากการแก้ไขปัญหาที่ดิน ส่วนมากเป็นการแก้ไขเป็นกรณีๆ ไป ไม่เคยแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างภาพใหญ่เลย การรณรงค์ที่สำคัญคือต้องทำให้ประชาชนคนทั่วไปเข้าใจว่าปัญหาที่ดินเป็นปัญหาร่วมเชิงโครงสร้างของทุกคนไม่ใช่ปัญหาของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น” ปิยบุตร กล่าว หลังจากนั้นชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่เวียงหนองล่องได้พาแกนนำคณะก้าวหน้าเดินสำรวจพื้นที่ที่มีปัญหา ต่อมาช่วงเวลา 15.00 น. มีการจัดวงพูดคุยถึงแนวทางการทำงานเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งท้องถิ่นกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กล่าวว่า “คณะก้าวหน้ามีนโยบายการทำงานการเลือกตั้งท้องถิ่นหลักๆ สองข้อคือไม่ใช้เงินและไม่ใช้อิทธิพล เราต้องการทำงานอยู่บนความต้องการของท้องถิ่นจริงๆ หลายคนอาจบอกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะการเมืองท้องถิ่นเข้มข้นมาก แต่เราเคยทำมาแล้วในการเลือกตั้งระดับชาติและเชื่อว่าเราจะทำได้อีก ครั้งนี้เราจะเปิดรับสมัคร ผู้ที่สนใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นกับคณะก้าวหน้าก็สามารถสมัครเข้ามาได้ เราเปิดกว้างให้กับทุกคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันกับคณะก้าวหน้า อาทิ ความเชื่อมั่นในประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาค ฯลฯ นอกจากนั้นเราต้องการให้คนที่เติบโตในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายท้องถิ่นเอง ออกแบบความต้องการเอง รวมถึงสามารถจัดการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมได้ เช่นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชุมชน เป็นต้น” ด้านเลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า “เราต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ได้กำหนดตัวผู้บริหารที่จะมาตัดสินใจเรี่องที่จะกระทบกับชีวิตของเขา เราอยากรณรงค์ให้คนหนุ่มสาวที่ออกจากพื้นที่ไปทำงาน ไปเรืยนหนังสือ ไปประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ให้กลับมาแสดงพลังเอาความรู้ความสามารถมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเองผ่านการลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งแล้วกลับมากากบาทออกเสียงเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตน เพราะแท้จริงแล้วประชาธิปไตยเริ่มได้จากระดับฐานรากก็คือในระดับท้องถิ่น นี่คือประชาธิปไตยที่อยู่หน้าประตูบ้านของท่าน ใกล้ตัวที่สุด จึงอยากให้พื่น้องประชาชนคอยติดตามความเคลื่อนไหวของการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ของตนเอง”