กรมปศุสัตว์ ร่วมหารือ ก.พาณิชย์ เร่งชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี PETA แบนกะทิ-ผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทย เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่องค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (PETA) ออกมาต่อต้านผลิตภัณฑ์กะทิสำเร็จรูป และมะพร้าวจากประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าการนำลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ส่งผลให้เกิดการแบนสินค้ากะทิจากไทยในห้างหลายแห่งในประเทศอังกฤษนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ดังนั้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ส่งออก ตลอดจนกิจการร้านอาหารไทยในต่างประเทศ และผู้นำเข้ากะทิจากประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของไทย ให้ช่วยชี้แจงทำความเข้าใจว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่เรียกว่าพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ปี พ.ศ.2557 ตลอดจนมีคณะกรรมการระดับชาติ องค์กร ภาคประชาชน องค์กรภาครัฐที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในการช่วยกำกับดูแลได้มาตรฐานระดับโลก ขณะเดียวกันในการชี้แจงทำความเข้าใจนั้น จะต้องเป็นไปด้วยท่าทีที่เป็นมิตร และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งในวันนี้ (8 ก.ค.63) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เชิญผู้ผลิตกะทิและผู้ผลิตแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าวมาหารือกัน ตลอดจนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ “เรามีความมั่นใจว่าได้มีการป้องกันไม่ให้มีการทารุณกรรมสัตว์ และมีการควบคุมจัดสวัสดิภาพสัตว์ คือการเลี้ยง การดูแล การขนส่ง และอื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมะพร้าว ส่วนการใช้ลิงกังเพื่อเก็บมะพร้าวนั้น ถือเป็นวัฒนธรรมการทำเกษตรของประเทศไทยมายาวนาน ขณะนี้เหลือเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ ประเทศไทยเองก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมผลิตหุ่นยนต์เพื่อนำมาใช้ในภาคการเกษตร รวมทั้งการเก็บมะพร้าวอีกด้วย”นายอลงกรณ์ กล่าว